อาชีพ UX/UI designer จะถูกแทนที่ด้วย product designer ในปี 2030 หรือไม่?
ยากที่จะบอกได้ว่าอาชีพใดที่มีความมั่นคงบ้างในยุคนี้ ยิ่งถ้าคุณทำงานในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา digital product ก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความเสี่ยงที่จะต้องถูกเลิกจ้างหรือหางานใหม่อันเนื่องมาจากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา disrupt การทำงานแบบเดิมๆ และการเปลี่ยนแนวทางดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป หรืออาจมาจากเหตุผลอื่นๆ อย่างเรื่องพิษเศรษฐกิจที่บีบคั้นจนบริษัทต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน เหมือนเช่นที่เรามักจะได้ยินข่าวบริษัท tech ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Amazon, Apple, Twitter มีการเลิกจ้างพนักงานทีละนับหมื่นนับพันคนอยู่เรื่อยๆ อาชีพ UX/UI designer เองก็เป็นหนึ่งในสาขาอาชีพที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเดียวกัน
มี UX/UI designer หลายคนรู้สึกกลัวว่าตำแหน่งงานของตนอาจจะถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งอื่น โดยเฉพาะ product designer ที่มีหน้าที่หลายอย่างคล้ายคลึงกัน จนทำให้ไม่แน่ใจว่าในอนาคตอันใกล้ ตำแหน่ง UX/UI designer จะยังเป็นที่ต้องการในตลาดงานหรือไม่ และควรรับมืออย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลง เรามาหาคำตอบกันในบทความนี้
UX/UI designer กับ product designer เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร
UX/UI designer นั้นหลายคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีน่าจะคุ้นเคยชื่อนี้กันอยู่แล้ว แต่ product designer ที่แปลเป็นไทยตรงตัวว่า “นักออกแบบผลิตภัณฑ์” นั้น อาจเป็นชื่อที่ทำให้บางคนสับสนได้ เพราะในสมัยก่อน คำว่า product design หรือ “การออกแบบผลิตภัณฑ์” นั้นหมายถึงการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปที่จับต้องได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป product design จึงครอบคลุมถึง digital product ด้วย
แม้ว่าสองตำแหน่งนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบ UX/UI ของโปรดักต์เหมือนกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันหลายอย่างในรายละเอียด ตรงที่ UX/UI designer เน้นลงมือออกแบบแต่ละส่วนเองมากกว่า โดยสามารถแยกความเชี่ยวชาญออกเป็นสองสาขาหลักๆ คือ UX design กับ UI design ซึ่งสองอย่างนี้เป็นงานที่ส่งเสริมกันและกัน จึงอาจอยู่ในคนคนเดียว หรือแยกออกเป็น UX designer กับ UI designer ตามความถนัดของแต่ละคนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กร
UX designer จะให้ความสำคัญกับ UX หรือประสบการณ์โดยรวมของผู้ใช้ ดูเรื่องของ user journey การร่าง wireframe และสร้าง prototype ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับ UX researcher อย่างใกล้ชิดเพื่อวิจัยและทดสอบผู้ใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลไปออกแบบโปรดักต์ให้ตรงความต้องการของผู้ใช้และใช้งานง่ายมากที่สุด
ส่วน UI designer ต้องลงลึกไปในเรื่องของการออกแบบ user interface อย่างเช่น ปุ่ม เมนู ตัวอักษร รูปภาพ วิดีโอ แอนิเมชัน และองค์ประกอบอื่นๆ ของโปรดักต์ที่ผู้ใช้มองเห็นและสามารถโต้ตอบกับมันได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้ดีไซน์ดูสวยงาม แต่ต้องทำให้โปรดักต์ใช้งานได้ดีที่สุด
ในขณะที่ product designer จะเน้นดูภาพรวมและควบคุมคุณภาพของการออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบ วางกลยุทธ์ที่เหมาะสม วาง design system เลือกเครื่องมือและกำหนดรูปแบบการทำงานที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ได้ลงมือออกแบบเองในรายละเอียด
ในอนาคตรูปแบบการทำงานของสองตำแหน่งนี้อาจมีการวิวัฒนาการไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีคนที่ลงมือออกแบบทุกองค์ประกอบของโปรดักต์อยู่ดี ดังนั้น ตำแหน่ง UX/UI designer จึงยังไม่หายไปจากทีมพัฒนาโปรดักต์ แต่อาจมีการเน้นไปที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น เช่น interactive design หรือ VUI (Voice User Interface) เป็นต้น แต่ยังสามารถทำงานร่วมกับ product designer ได้เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอาจมีหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต
ความต้องการของ UX/UI designer ในตลาดงานปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
นอกจาก UX/UI designer จะยังไม่หายไปไหนแล้ว ตลาดยังมีความต้องการตำแหน่งงานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดย Nielsen มีการคาดการณ์ว่าจำนวนคนที่ทำงานสาย UX จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 1 ล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน เป็น 100 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2050 ในขณะที่ U.S. Bureau of Labor Statistics คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างนักออกแบบเพิ่มขึ้น 16% ในช่วงปี 2022-2032
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทต่างๆ มีการรับคนเข้าทำงานเกี่ยวกับ UX/UI design มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาหรืออินเดีย ที่ธุรกิจดิจิทัลกำลังเฟื่องฟูสุดขีด จากข้อมูลของ UX Design Institute เผยว่า นอกจากบริษัท tech โดยตรงแล้ว ธุรกิจที่กำลังต้องการ UX/UI designer เป็นอย่างมากได้แก่ ธุรกิจด้านการเงินและธนาคาร, ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ, รวมถึงดิจิทัลเอเจนซี เป็นต้น
ซึ่งหากดูประกาศรับสมัครงานจากแพลตฟอร์มสมัครงานชั้นนำอย่าง Indeed และ Glassdoor จะเห็นได้ว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวในเมืองไทยก็มีความต้องการ UX/UI designer ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทักษะที่ UX/UI designer ต้องพัฒนาเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต
ทักษะที่ UX/UI designer จำเป็นต้องมี เพื่อ career path ที่ดีนั้นไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของเครื่องมือพื้นฐาน ความเข้าใจในเรื่องดีไซน์ และ empathy หรือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ใช้ อีกต่อไป แต่ต้องพัฒนาทั้ง hard skill และ soft skill ในเรื่องต่อไปนี้ด้วย เพื่อให้สามารถก้าวทันเทคโนโลยี เทรนด์ของโลก และเป็นที่ต้องการขององค์กรชั้นนำอยู่เสมอ
Hard skill
เข้าใจเป้าหมายทางธุรกิจและปรับใช้กับดีไซน์ได้
ออกแบบตามหลัก universal design ที่ผู้ใช้ทุกคนเข้าถึงได้
คำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
รู้จักการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้เพื่อหา insight ที่ต้องการ
เข้าใจพื้นฐานการเขียนโค้ด เช่น HTML, CSS, JavaScript
ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น VUI และ Generative AI
Soft skill
รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำงานภายใต้ข้อจำกัดได้
เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของคนในสังคม
มีมนุษยสัมพันธ์ดี ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ทั้งในทีมตัวเอง แผนกอื่นๆ รวมถึงลูกค้า
หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
มีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง
ความสำคัญของ UX/UI designer ที่มีต่อธุรกิจยุคใหม่
ในอนาคตอันใกล้อย่างน้อย 5-10 ปีต่อจากนี้ ธุรกิจยุคใหม่ยังคงต้องพึ่งพา UX/UI designer มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขามีความจำเป็นในเรื่องต่อไปนี้
ออกแบบโปรดักต์โดยคำนึงถึงแบรนด์และเป้าหมายทางธุรกิจอยู่เสมอ
ทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้
ช่วยสร้างโปรดักต์ที่เข้าใจง่ายและใช้งานง่าย ได้รับประสบการณ์ที่ดี
นำเสนอดีไซน์ให้แสดงผลบนทุกแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม
ทำงานร่วมกับทีมงานฝ่ายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้โปรเจกต์ดำเนินไปอย่างราบรื่นจนเสร็จสิ้น
หากบริษัทใดมี UX/UI designer เก่งๆ ย่อมทำให้พวกเขาสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ได้จนกลายเป็นลูกค้าประจำ, เพิ่มศักยภาพในการทำ SEO และเพิ่ม conversion rate เพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง, กระตุ้นให้ลูกค้ายอมควักเงินจ่ายค่าบริการมากขึ้น, ทั้งยังใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าและประหยัดต้นทุนอีกด้วย
Morphosis คือผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์ที่พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง
จากข้อมูลที่เรานำเสนอมาทั้งหมดนั้นสามารถสรุปได้ว่า UX/UI designer ยังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีแนวโน้มที่จะเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วย product designer แต่อย่างใด และหากคุณพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็ไม่ต้องห่วงว่าอนาคตจะต้องหางานอื่นทำ
Morphosis เป็นที่ปรึกษาในการทำ digital transformation ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการออกแบบ digital product เรามี UX/UI designer และ product designer มากประสบการณ์มากมายที่ร่วมงานกับลูกค้าชั้นนำทั่วโลก หากคุณต้องการความก้าวหน้าใน career path สามารถมาสมัครงานกับเราหรือหากมีโปรเจกต์ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านดีไซน์ สามารถติดต่อเราได้