จากคนไม่ค่อยพูดที่กลายมาเป็น Design Manager ที่ดูแลทุกคนในโปรเจกต์ออกแบบ UX/UI
สิ่งที่ทำให้เราเริ่มต้นเส้นทางอาชีพ UX/UI designer
ขอเริ่มจากสถาบันที่ทำให้เราเป็นตัวเองอย่างในทุกวันนี้ นั่นก็คือมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขา visual communication design โดยเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจเรียนสายนี้ก็เพราะตอนเด็กๆ ชอบวาดรูปมาก แล้วพอรูปตัวเองถนัดเรื่องนี้ก็เลยได้เข้าไปเรียนแบบจริงจัง
ความจริงแล้วที่เราเรียน decorative art มาก็ไม่ได้ตรงกับสายงาน UX/UI designer ที่ทำอยู่ในปัจจุบันสักเท่าไร ตอนนั้นส่วนใหญ่ทำเกี่ยวกับ visual design ที่ได้ทั้งวาดรูป ทำกราฟิก ออกแบบ exibition สร้าง typography ทำสิ่งพิมพ์ ฯลฯ เป็นต้น และถ้าให้เราสรุปสั้นๆ เกี่ยวสิ่งที่เรียนมา ก็คงเป็นหน้าที่ในการตกแต่งงานที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ทางสายตาให้ออกมาสวยงามนั่นเอง
การออกแบบ UX/UI ที่ดีมาจากพื้นฐานและ logic ถูกต้อง
ที่เราได้เข้ามาทำงานสายนี้จริงๆ จังๆ พูดไปแล้วอาจฟังดูตลก แต่ความจริงคือเข้ามาเพราะเรื่องค่าตอบแทนที่ดีกว่าตอนทำงานสายกราฟิกทั่วๆ ไปมาก แต่ที่รู้คือเนื้องานมันมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ ระหว่างงานกราฟิกกับ UX/UI design ในแง่ของความเป็น visual ซึ่งเราก็จะดูออกและวิเคราะห์ได้ว่างานออกแบบที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นมันสวยหรือไม่สวยเพราะอะไร
เราเจอคนที่เข้ามาทำงาน UX/UI ใหม่ๆ แล้วเขาออกแบบอะไรมาสักอย่างแล้วมันดูไม่ค่อยเข้ากับส่วนอื่นของงานออกแบบที่อยู่ในโปรเจกต์เดียวกัน เช่น การจัดวางรูปภาพหรือกราฟิกที่ดูไม่ค่อยบาลานซ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเรียนด้านดีไซน์ก็จะกลับมาช่วยทำให้เรารู้ว่า ตรงนี้ space ยังไม่เหมาะ ต้องขยับเข้ามาอีก สีควรใช้ในโทนไหน ต้องโฟกัสที่จุดนี้ และแน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็วนกลับไปที่เรื่องพื้นฐานการออกแบบอีกเช่นเคย
ตอนนั้นก็เห็นว่าสิ่งที่เราเรียนมามันมีลู่ทางไปต่อในอนาคต โดยก่อนที่จะมาทำงานที่ Morphosis เราก็ได้ทำงานกับ graphic house ประมาณ 3 บริษัท โดยหลังจากทำงานได้สักพักหนึ่ง ก็ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษเกี่ยวกับการวาดรูปอยู่ 1 ปี ซึ่งเอาตรงๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่ทำในสาย UX/UI เท่าไร อารมณ์ว่าเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นศิลปินจริงจังเลย
แน่นอนว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากการเรียนต่อครั้งนี้ ก็คือมันทำให้เรารู้ว่ารูปภาพ กราฟิก หรือดีไซน์ใดๆ ก็ตาม แบบไหนคือสวย แบบไหนคือยังขาดอะไรอยู่ พูดง่ายๆ เราสามารถแยกแยะได้ว่าหากงานนั้นเป็นงานของลูกค้าที่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด ก็จะขีดเส้นไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องคิดด้วย logic ใด พร้อมทั้งไม่เอา bias หรืออีโก้ส่วนตัวมาใช้ในงานเลย แบบว่าพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นหากสิ่งนั้นช่วยให้ผลงานออกมาดีและเป็นประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุด แต่ถ้าเป็นงานส่วนตัวก็จะมีวิธีคิดงานอีกแบบไปเลย ประมาณว่าถ้าเป็นงานของเรา เราก็จะเน้นที่ความชอบส่วนตัว ความสุขส่วนตนเป็นหลัก อะไรเเบบนี้
หากเป็นงาน UX/UI มันจะค่อนข้างมีข้อจำกัดเยอะ สมมติว่าลูกค้าดูงานที่เราทำไป แล้วบอกว่าอยากให้ปรับปุ่มให้ใหญ่เกือบครึ่งของหน้าจอ เราก็จะเเนะนำ เหตุผลและหลักการกลับไป ว่าอะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะ เนื่องจากผิดหลักของการออกแบบ ทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานแย่ลงมากกว่าจะช่วยให้เกิด conversion ที่มากขึ้น ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงทุกสิ่งที่อยู่ภายใน digital platform เดียวกันด้วย ซึ่งเป็นจุดที่เราชอบมากที่ได้ทำงานนี้ เพราะเราสามารถที่จะ แนะนำลูกค้ากลับไปได้ด้วยเหตุผลและผลของการออกแบบ
ความรู้สึกที่มีต่อเหล่า designer ในองค์กรนี้
ตอนแรกที่เราเข้ามาทำงานที่ Morphosis ก็รู้สึกว่าการทำงานดีไซน์มีระบบค่อนข้างชัดเจน แถมยังมี designer มากกว่า 30 ชีวิต ได้อารมณ์ชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายตำแหน่งทั้ง junior, mid, และ senior ที่ทำให้เราได้เหมือนกับเรียนและพัฒนาตัวเองร่วมไปกับพวกเขา ซึ่งที่นี่ค่อนข้างแคร์ในเรื่องของเนื้องาน design มากกว่าที่จะโฟกัสในเรื่อง bussines เพียงอย่างเดียว
ถ้าให้เปรียบกับที่ก่อนๆ ที่เคยทำมาแนวทางที่เน้นเรื่อง design เป็นสำคัญของ Morphosis คือสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจรวมถึง digital product ของลูกค้ามี value เพิ่มขึ้น ซึ่งในวงการเราเรียกสิ่งนี้ว่า design driven นั่นเอง
อีกสิ่งที่เรารู้สึกว่าชอบการทำงานที่นี่ก็คือความเป็น multi-culture company ทำให้เราได้เจอกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากหลายสัญชาติและมากไปด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แถมยังไม่ได้มีเฉพาะอีเวนต์ของไทยเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสกับอีเวนต์นานาชาติที่ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องไปอยู่ในต่างประเทศเลย
มีครั้งหนึ่งที่ต้องสร้าง login flow ขึ้นมา ตอนนั้นเราก็ได้ไปปรึกษากับ Michi (Michimasa Kataoka) เพื่อน designer ชาวญี่ปุ่น แน่นอนว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างจะเข้มงวดมากกับเรื่องของความปลอดภัย ถ้าให้นักออกแบบคนอื่นมาดูก็อาจจะไม่ซีเรียสเรื่องนี้เท่ากับ Michi ซึ่งก็เป็นอะไรที่ทำให้เราได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเพื่อนร่วมงานแต่ละชาติภายในที่ทำงานแบบชัดเจนเลย
เส้นทางที่ทำให้เติบโตมาเป็น Design Manager
ตอนนี้เราก็ทำงานที่ Morphosis มาเกือบๆ จะ 3 ปีแล้ว โดยเริ่มจากตำแหน่ง UX/UI designer จนมาถึงตำแหน่ง design manager ซึ่งจริงๆ แล้วตำแหน่งนี้ต้องรู้เรื่องงานดีไซน์ในระดับดีมาก แถมยังต้องลงมือทำงานออกแบบ digital product ต่างๆ เหมือนกับคนอื่นๆ ในทีมตามปกติ
นอกจากนี้ต้องรับหน้าที่ในการค้นหาคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมทีม ไปจนถึงทำงาน internal ของบริษัท เช่น ช่วยทำ proposal, แผน training, ทำ 1 on 1 กับสมาชิกในทีม เพื่อนำ feedback มาปรับปรุงสิ่งต่างๆ ภายในทีม
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือตำแหน่งที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของ designer ในทีมให้ดีขึ้น ทั้งแง่การทำงาน การพัฒนาตัวเอง ตลอดจนความรู้สึกที่มีต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในทีม
ซึ่งหน้าที่สำคัญๆ ของ design manager ก็คงเป็นการมองภาพรวมของทีม ดูว่าใครกำลังทำอะไรในโปรเจกต์ไหน ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ติดขัดอะไรหรือเปล่า และเราก็จะเข้าไปช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาใดๆ ก็ตามเกิดขึ้นมา สรุปคือหน้าที่ของเราก็เหมือนกับการเป็นวาทยากรที่คอยคุมวงออเคสตร้านั่นแหละ คือดูและเข้าใจภาพรวมของงาน แล้วปล่อยให้ทีมได้โชว์ฝีมืออย่างเต็มที่เอง
อีกเรื่องหนึ่งที่รู้สึกว่าเราต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ก็คงเป็นเรื่องของการพูดให้มากขึ้น ประมาณว่าต้องพูดให้ผู้รับฟังเข้าใจชัดเจนและถูกต้องตรงกับที่เราได้สื่อสารออกไป ทั้งในฝั่งของลูกค้า designer หรือคนอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในงานออกแบบ มีหลายคนคิดว่าเราจะต้องพูดเก่งแน่ๆ เลย แต่ขอบอกเลยว่าไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราเพิ่งมาพูดเก่งก็ตอนทำงานในตำแหน่งนี้แหละ เป็นเหมือนไฟต์บังคับที่ต้องให้พูดเพื่อนำเสนองานให้กับลูกค้าฟัง
ความท้าทายและความสนุกในการออกแบบ digital product
เชื่อไหมว่าก่อนหน้านี้เราเคยใช้ Photoshop กับ Illustrator ออกแบบเว็บไซต์ในสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ แน่นอนว่าตอนนั้นมันเป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างโอเค เพราะนักออกแบบยุคนั้นจะคำนึงถึงแค่การแสดงผลในคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ต้องคำนึงถึงคนที่ดูหรือใช้งานเว็บไซต์จากมือถือ แถม logic ในการสร้างเว็บไซต์ในสมัยนั้นยังไม่ได้มาจากการสร้างด้วยการ coding หรือฝั่ง dev แต่มาจากฝั่งของ visual อย่าง designer เป็นหลักที่ผลักดันให้งานนั้นๆ สำเร็จเป็นดิจิทัลโปรดักต์ เช่น การแต่งรูปให้สวย ทำโลโก้เด่นๆ
ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ ใครที่ทำงานในวงการ UX/UI designer ก็จะใช้ Figma เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างงานออกแบบ เนื่องจาก nature ของการสร้างแอปฯ หรือเว็บไซต์มีความซับซ้อนมากกว่าที่ผู้ใช้เห็น ตัวอย่างเช่น หน้าจอ login ของ Facebook ที่เห็นมีช่องให้กรอก username กับ password แต่เบื้องหลังนั้นเต็มไปด้วย flow ต่อเนื่องกันมากกว่า 20-30 หน้า ตั้งแต่ error case เป็นยังไง success case เป็นแบบไหน มีปุ่มอะไรที่ต้องแสดงขึ้นมาให้ user กดบ้าง อะไรแบบนี้เชื่อมโยงกันอยู่ในหนึ่งหน้าบนแอปฯ ที่มีหน้าตาดูเรียบง่าย
นอกจากนี้ Figma ยังมีจุดเด่นในเรื่องที่ทุกองค์ประกอบในการออกแบบ digital product จะมีการ synchronize ระหว่างกัน ทำให้เวลาที่ต้องแก้ไขปุ่ม เมนู หรือ flow อะไรที่มีความเกี่ยวข้องกัน ทุกอย่างจะอัปเดตให้อัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งไล่หาหรือแก้ทีละหน้าให้เสียเวลา เรียกว่าตั้งแต่ designer เราได้ใช้ Figma เป็นเครื่องมือหลักในการออกแบบดิจิทัลโปรดักต์ ชีวิตการทำงานก็ง่ายขึ้นอย่างมาก
อีกเรื่องที่ชอบเกี่ยวกับ Figma ก็คงเป็นการที่มีบรรดา plugin จำนวนมากแถมยังอัปเดตบ่อยครั้งให้ได้ใช้งาน ทั้งยังตอบโจทย์ในเรื่องที่สามารถแชร์ให้ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์เข้ามาดู ทำงาน หรือให้ฟีดแบ็กได้เต็มที่ผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันที่ให้ทาง developer เข้ามา inspect โค้ดของหน้านั้นว่ามี specification อย่างไรอีกด้วย เรียกว่าตอบโจทย์การออกแบบและพัฒนา digital product ที่มีความซับซ้อนและยังรองรับการ scale ไปสู่แพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้สะดวกกว่ามาก
ใช่ว่า Figma จะมีแต่ข้อดีไปหมด เพราะเราเจอข้อจำกัดอย่างหนึ่งของแพลตฟอร์มนี้ โดยหน่วยความจำบน cloud สำหรับแต่ละไฟล์จะมีจำกัดอยู่ที่ 2GB นั่นหมายความว่าหากต้องการทำงานต่อเนื่อง เราก็จะต้องทำการเปิดไฟล์ใหม่เพื่อทำงานนั้นต่อ แถมถ้ามีคนอื่นในทีมเข้ามารุมกันทำงานที่ไฟล์นั้นราว 6-8 คน Figma ก็จะเริ่มตอบสนองช้าลง และหนักสุดหากมีการเปิดใช้ไฟล์นั้นเรื่อยๆ หลังจากที่ไฟล์มีขนาดเกิน 2GB มันก็หายไปและไม่สามารถกู้กลับมาได้อีกเลย
โปรเจกต์ที่ภูมิใจ
ย้อนกลับไปตอนมาทำงานที่นี่ครั้งแรก บอกก่อนว่าตัวเองไม่เคยใช้ Figma มาก่อนเลย หมายความว่าเราจะต้องฝึกใช้โปรแกรมนี้ตั้งแต่เริ่ม พร้อมๆ กับรับหน้าที่ในการทำโปรเจกต์แพลตฟอร์ม e-commerce ให้กับบริษัทจัดจำหน่ายอุปกรณ์และอะไหล่รถบรรทุก ซึ่งเราได้ออกแบบ จัดการ และคอยทำทุกอย่างเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ด้วยตัวคนเดียวจริงๆ แน่นอนว่าก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ปลดล็อกสกิลด้าน UX/UI design ของตัวเองให้ก้าวไปอีกขั้น
หลังจากนั้น เราก็ได้เข้ามาร่วมโปรเจกต์แอปฯ True ID ที่ถือว่าเป็นโปรเจกต์ใหญ่มีคนเกี่ยวข้องหลายคน ตั้งแต่ แชร์ไอเดีย ลงมือออกแบบ และทำการพัฒนาโปรดักต์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งข้อดีของ True ID ก็คือการที่เป็นโปรเจกต์ที่มีระยะเวลาค่อนข้างนาน ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ได้ต้องรีบทำมากขนาดนั้น แถมเวลาที่ทางทีม designer ของเราแชร์ไอเดียอะไรไป ทางลูกค้าก็ตอบรับกลับมาดีมากทุกครั้ง แล้วพอเราได้ลงมือสร้างสรรค์โปรดักต์นี้จนในที่สุดก็ถือว่าปล่อยสู่ตลาด ตอนที่ได้เห็นโปรดักต์มันทำให้เราดีใจและภูมิใจมากๆ แบบว่ามันดูสวยและใช้งานได้ดีเหมือนที่พวกเราคิดกันไว้ในตอนแรกเลย
ทักษะที่ UX/UI designer ควรมี
ด้วยเนื้องานการออกแบบ digital product ที่มีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก ทำให้ UX/UI designer จะต้องมีส่วนร่วมกับคนในทีม ลูกค้า หรือผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ทักษะในการสื่อสารจึงสำคัญมาก ซึ่งใครที่เป็นคนที่เปิดรับหรือสามารถปรับตัวเพื่อพูดคุยกับคนในทีม หรือแม้แต่กับลูกค้าได้ง่าย ก็จะช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ผลงานออกมาดีตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้
จริงๆ แล้วคนเป็น introvert ก็เป็นคนที่สื่อสารดีได้เหมือนกัน แค่คุณต้องรู้จักเริ่มพูดก่อน บอกในสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องการอะไร ติดปัญหาตรงไหน หรืออยากเสนอแนะอะไรออกไป ค่อยๆ คิด ไม่จำเป็นต้องรีบพูดหรือตื่นตระหนกไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ขอแค่ให้เรียบเรียงคำพูดให้เป็นเหตุเป็นผล จากนั้นค่อยสื่อสารออกไป เท่านี้ผู้ที่รับฟังก็จะเข้าใจสิ่งที่คุณสื่อสารได้ครบถ้วนแล้ว
เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากก็คืออยากให้ designer ทุกคนถามกับตัวเองว่าอยากจะโตไปในทางไหน จะเลือกสาย UX หรือว่า UI จะได้ทุ่มเทกำลังทั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาที่มีไปกับการศึกษาให้รู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่เราชอบ
วางแผนการทำงานไว้อย่างไรต่อ
เราอยากเรียนรู้เรื่อง UX research ให้เข้าใจมากกว่านี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งด้านนี้เท่าไร แต่ก็ไม่ได้อยากที่จะลงลึกในเรื่องนี้เหมือนคนที่เขาเป็น UX researcher ขอแค่ว่าเข้าใจ process ทั้งหมดของการออกแบบและพัฒนา digital product ที่จะมีขั้นตอนการทำ discovery ว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร อยากจะทำอะไร ตลอดจนปัญหาที่มีอยู่เป็นปัญหาจริงๆ หรือเปล่า
จริงๆ แล้วเราแค่อยากรู้ว่าในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรจะหยิบเครื่องมือชนิดไหนมาใช้งานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เราต้องการจะรู้ เช่น empathy map, A/B testing, หรือ usability testing อย่างนี้เป็นต้น แล้วพอเรารู้แล้วว่าข้อมูลที่ต้องการมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ถึงนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาที่กระบวนการออกแบบ เพื่อผลักดันให้งานเดินต่อไป และช่วยทำให้เราเข้าใจถึงภาพรวมใหญ่โปรเจกต์นั้นได้ครอบคลุมจริงๆ
รวมถึงไปศึกษาเพิ่มเติมในด้านการบริหารจัดการให้ลึกซึ้งกว่านี้ เวลาเจอโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อน และมีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จะได้ผลักดันให้โปรเจกต์นั้นๆ สำเร็จไปเป็นตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย