การเดินทางสู่การเป็นนักออกแบบที่ไม่เคยนึกฝัน
ผมไม่เคยคิดภาพในหัวหรือวางแผนมาก่อนเลยว่าจะมาเป็น UX/UI designer เพราะตอนที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย ผมมักใช้เวลาถึงหกชั่วโมงต่อวันในการวาดภาพและทำเครื่องเซรามิก พร้อมทั้งตั้งใจเรียนวิจิตรศิลป์ในสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาของผมอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของผมก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เสมอไป เพราะเมื่อเรียนปริญญาตรีไปได้ครึ่งทาง มีวันหนึ่งที่ผมพยายามจะซ่อมเตาอบ Starbucks ซึ่งผมได้ถูกกระแสไฟฟ้าจากเจ้าเครื่องนั้นช็อตที่มืออย่างรุนแรงจนส่งผลต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก เหตุการณ์วันนั้นได้ทำให้ศิลปะอันเป็นเส้นทางที่ผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ในตอนแรกดูไม่ค่อยจะเป็นไปได้สักเท่าไหร่ ผมจึงต้องเปลี่ยนแนวทางในอนาคตของผมสักเล็กน้อย
ความท้าทายจะพาคุณไปยังจุดที่คุณต้องการ
ผมไม่เคยเป็นคนที่มีความหลงใหลเพียงอย่างเดียว แถมยังอยากไปเที่ยวที่ต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อผมเรียนจบระดับปริญญาตรี จึงได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Karl Marx University of Economics ในฮังการี
หลังจบจากฮังการี ผมก็ได้ลองใช้ความสามารถของผมเข้าไปทำงานเป็นนักวิเคราะห์ธุรกิจในสตาร์ตอัปในตุรกี ซึ่งตอนนั้นอยู่ดีๆ นักออกแบบก็ลาออกไปจนทำให้ทุกคนในบริษัทไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อไม่มีใครมาแทนที่เขาได้ ผมจึงก้าวเข้าไปลองใช้ความสามารถและสร้าง mock up ของ screen และบาง flow ขึ้นมาได้ ซึ่งตอนนั้นทำให้ผมรู้ตัวว่าแม้จะชอบในการเป็นนักวิเคราะห์ธุรกิจ แต่ผมก็ชอบการออกแบบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการทางธุรกิจ
โชคดีที่สตาร์ตอัปมีทรัพยากรเพียงพอที่จะให้ผมเปลี่ยนเส้นทางอาชีพได้
ในตอนนั้น ช่องว่างระหว่างอาชีพ graphic designer และ front-end developer มีน้อยมาก ไม่มีใครเข้าใจเรื่องของ visual และ flow ด้วยกลยุทธ์แบบเดียวที่มุ่งเป้าไปที่การปรับให้เหมาะสมและเพิ่ม conversion ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผมต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานนี้ให้มากขึ้น ในที่สุดผมก็สร้างตำแหน่งของตัวเองขึ้นมาได้ และปัจจุบันทุกคนต่างเรียกสายงานนี้ว่าคือการออกแบบ UX
ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ตุรกีเป็นเวลาสองปี ก่อนที่จะย้ายมาประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผมชอบประเทศไทยมากๆ เมื่อได้ไปเที่ยวพักผ่อน ดังนั้นที่นี่จึงดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ดีในการลงหลักปักฐานในขณะที่ผมทำงานแบบระยะไกล
งานฟรีแลนซ์ที่ผมทำนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ผมได้ทำทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบเว็บไซต์ไปจนถึงการเขียนคอนเทนต์ และในท้ายที่สุดก็ได้กลับมาสู่การออกแบบ UX/UI
อย่างไรก็ตาม การทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อตัวผมเองนัก ผมจึงได้เข้าไปเริ่มงานที่ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ในขณะนั้น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ttb ซึ่งบังเอิญ Morphosis ก็ได้ช่วยพวกเขาเรื่องการรีแบรนด์แอป) ในตำแหน่ง Senior Product Design Manager ซึ่งผมได้เรียนรู้ว่าการเป็นนักออกแบบที่ดีหมายความว่าอย่างไร
การให้คำปรึกษาช่วยสร้าง UX/UI designer ที่เก่งขึ้น
เมื่อผมเริ่มทำงานในการออกแบบ UX/UI เป็นครั้งแรก ไม่มีใครเข้ามาทำการฝึกอบรมให้อย่างเป็นทางการ แต่ผมโชคดีที่มีคนคอยแนะนำในด้านต่างๆ ตลอดการเดินทางของผม เริ่มจาก CEO ของสตาร์ตอัปในตุรกีที่เห็นถึงพรสวรรค์ด้านการออกแบบของผมและได้ผลักดันให้ผมเดินมาถูกทาง พร้อมทั้งยังมอบทรัพยากรและสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการเริ่มเรียนรู้เรื่องการออกแบบให้กับผมอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำด้านอาชีพที่ดีที่สุดที่เคยได้รับมาจากผู้จัดการของผมที่ TMB โดยผู้จัดการได้แนะนำผมเกี่ยวกับวิธีการทำงานในระบบองค์กร และสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นโดยการค้นหาโปรเจกต์ที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะโปรเจกต์ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง แทนที่จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่เปลี่ยนมาเป็นการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้โปรเจกต์ดีขึ้นและสามารถวัดผลได้
มีโปรเจกต์ที่น่าสนใจและก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจมากมายที่ TMB ตอนนั้นผมช่วยติดตั้งระบบยืนยันตัวตนอย่าง two-factor authentication ลงในแอปฯ ธนาคาร ซึ่งจะเป็นทางเลือกแทนระบบ OTP แบบดั้งเดิม โดยผมได้พัฒนา journey ของ eKYC และยังได้รับโอกาสในการทำงานกับระบบ PromptPay เวอร์ชันแรก ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารแบบเรียลไทม์ที่ล้ำสมัยที่สุดของประเทศไทย
บางครั้งดิจิทัลโปรดักต์ที่น่าสนใจก็อาจล้มเหลว
เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่อื่นๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โปรเจกต์จะล้มเหลวหรือถูกปฏิเสธโดยผู้บริหารระดับสูง ในฐานะคนที่เคยทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ผมเคยโดนสั่งให้หยุดทำโปรเจกต์ที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาไปเต็มที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จนถึงตอนนี้ ผมไม่เคยทำงานอะไรที่รู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาเลย ถึงแม้ว่าผมยังคงได้รับผลประเมินการทำงานที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมก็ตาม แต่มันกลับทำลายกำลังใจของผมมากกว่าตอนที่ถูกไฟฟ้าช็อตเสียอีก
ผมเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีมองสิ่งต่างๆ โดยคิดว่าความผิดพลาดคือโอกาสที่จะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ไม่อยากให้ฟังดูซ้ำซาก แต่การเดินทางสำคัญกว่าจุดหมายปลายทางเสมอ ตราบใดที่คุณได้รับ insight จากกระบวนการนี้มันก็ไม่ใช่ความล้มเหลวที่ทำให้คุณเสียเวลาหรือแรงกายและใจแต่อย่างใด
ผมได้เรียนรู้มากมายจากดิจิทัลโปรดักต์ที่ไม่ประสบความสำเร็จที่ TMB แต่ผมก็ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญในชีวิตบทต่อไปเมื่อได้ร่วมงานกับ Morphosis
การออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัลเท่านั้น แต่มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อยู่เสมอ
ไม่มีอะไรจะคุ้มค่าไปกว่าการผสมผสานทักษะเฉพาะตัวของผู้คนและการได้เห็นพวกเขาทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจมากเมื่อได้เห็นสมาชิกในทีมบรรลุเป้าหมายที่มาจากการที่ผมได้ช่วยพาพวกเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางอาชีพในฝันของแต่ละคน และยังดีใจทุกครั้งที่มีคนมาขอให้เขียนคำแนะนำให้กับพวกเขา
คำแนะนำที่ผมชอบให้กับ designer รุ่นใหม่คือ: แนวทางการออกแบบมีความสำคัญมากกว่าเครื่องมือที่คุณใช้
การออกแบบ UX/UI อาจเปลี่ยนแปลงไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคุณสามารถออกแบบอะไรก็ได้ ตราบใดที่คุณมุ่งเน้นไปที่การใช้งานดิจิทัลโปรดักต์และสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่คนต้องการ แม้ว่าบางคนจะมีความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับสุนทรียภาพของโปรดักต์ที่คุณสร้างขึ้นมา ทว่าผู้คนก็จะใช้โปรดักต์ของคุณจริงๆ ซึ่งหมายถึงการสร้างสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับตรรกะ, ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์มีความสำคัญมากกว่าผลงานที่ออกมา
คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในทีมออกแบบ UX/UI ของเราได้ที่นี่ และดูงานออกแบบบางส่วนของเราได้ที่นี่