5 ตัวชี้วัดสำคัญในการทำ QA ให้ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของคุณ
เป็นเรื่องปกติในตลาดที่หากเกิดความผิดพลาดด้านดีไซน์หรือการใช้งานเพียงจุดเดียว ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแบรนด์ของคุณได้ ไม่มีอะไรจะเสี่ยงไปกว่าการตัดสินใจเปิดตัวแอปฯ เว็บไซต์ หรือผลิตภัณฑ์ดิจิทัลอื่นๆ โดยไม่ได้มีการทดสอบเพื่อประกันคุณภาพ หรือ Quality Assurance (QA) อีกแล้ว แม้จะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดก็อาจเขียนโค้ดพลาดได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่มีใครสังเกต ทำให้ผู้ใช้หงุดหงิด เพิ่ม bounce rate ทำให้การสั่งซื้อหยุดชะงัก และเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย หรือปัญหาอื่นๆ อีกมากมายตามมา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำ QA นั้นสำคัญแค่ไหน แต่กลายเป็นว่าบรรดาธุรกิจดิจิทัลยังคงรีบเร่งหรือมองข้ามสิ่งนี้ไปด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลา งบประมาณ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีจำกัด อย่างไรก็ตาม เฟรมเวิร์กสำหรับทำ QA ที่เหมาะสมนั้น จะช่วยให้ทีมของคุณหยุดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ การใช้ 5 วิธีการทดสอบซอฟต์แวร์ในกระบวนการ QA ต่อไปนี้จะทำให้บริษัทของคุณเปิดตัวแพลตฟอร์มและปรับปรุงมันได้ด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่าจะมี UX ที่ดี
QA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
การประกันคุณภาพหมายถึงการทดสอบหาข้อผิดพลาด บั๊ก และตำหนิต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรตกหล่นไปในกระบวนการออกแบบและพัฒนา โดย QA tester จะใช้ Virtual Machines (VMs) และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อจำลองการใช้งานหลากหลายรูปแบบบนแอปฯ เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้ว่าองค์ประกอบทั้งหมดทำงานได้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่ และส่งมอบ UX/UI ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าของคุณ
เนื่องจากการแก้ไขข้อผิดพลาดก่อนที่ผู้ใช้จะได้พบเจอเองนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า QA จึงไม่ใช่แค่เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการปรับปรุงคุณภาพ แต่ยังดีต่อ ROI อีกด้วย บริษัทที่ทำ QA ตลอดวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงหลังจากเปิดตัวนั้น มีโอกาสที่จะสูญเสียเวลา ทักษะ และทรัพยากร น้อยกว่าคู่แข่งอยู่มาก
5 รูปแบบหลักของการทำ QA จะปกป้องผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของคุณได้อย่างไร
QA แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การทดสอบฟังก์ชัน การทดสอบประสิทธิภาพ การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัติ การทดสอบความง่ายในการใช้งาน และการทดสอบความปลอดภัย แต่ละกระบวนการออกแบบมาเพื่อทดสอบแพลตฟอร์มดิจิทัลของคุณในส่วนที่แตกต่างกัน และยิ่งคุณนำสิ่งเหล่านี้มาผนวกรวมกับกลยุทธ์การทดสอบผลิตภัณฑ์มากเท่าไร คุณก็จะยิ่งมั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ดีมากเท่านั้น
1. การทดสอบฟังก์ชัน
ผู้ใช้เข้ามาในแอปฯ เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มของคุณด้วยความคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง และคุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะทำตามความคาดหวังนั้น การทดสอบฟังก์ชัน หรือที่เรียกกันว่าการทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์นั้นเป็นสิ่งที่ใช้กันมากที่สุดในการทำ QA หลักการนี้นำไปใช้ตรวจสอบองค์ประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ว่าทำงานได้ตาม requirement ที่ควรจะเป็นหรือไม่ ในการทดสอบฟังก์ชันนั้น การรวบรวมและวิเคราะห์ requirement คือตัวชี้วัดว่าซอฟต์แวร์นั้นๆ ทำงานได้ตามที่ต้องการหรือเปล่า
การทดสอบฟังก์ชันที่ครบครันทุกขั้นตอนอาจดูยุ่งยากในวันนี้ แต่จะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึงในอนาคต ด้วยการค้นพบข้อผิดพลาดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การทดสอบฟังก์ชันให้ได้ประสิทธิภาพนั้นเพียงแค่ให้ทีมงานของคุณลองใช้แพลตฟอร์มในแบบเดียวกับที่ผู้ใช้จะได้ใช้งาน การทดสอบฟังก์ชันจึงมีประโยชน์อย่างมากตรงที่ลงทุนต่ำแต่ได้ผลดี
2. การทดสอบประสิทธิภาพ
เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง แพลตฟอร์มของคุณจะต้องพบกับปริมาณการใช้งานที่มากจนถึงขีดจำกัด หากคุณไม่รู้ว่าระบบของคุณจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร คุณจะต้องเสี่ยงเจอปัญหาคอขวดที่จะทำให้เว็บไซต์ตอบสนองช้าลงหรือล่มได้ และอย่างที่บริษัทดิจิทัลในยุคนี้รู้กันดีว่า แค่ผู้ใช้เจอกับเว็บไซต์ล่มเพียงครั้งเดียวก็อาจออกจากเว็บไซต์ไปและเริ่มรู้สึกไม่ดีต่อแบรนด์ของคุณได้แล้ว
การทดสอบประสิทธิภาพจะช่วยให้ทีมพัฒนามั่นใจว่าองค์ประกอบที่จำเป็นนั้นสามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมหาศาลได้ กระบวนการนี้จะวิเคราะห์ว่าแพลตฟอร์มของคุณสามารถใช้งานได้ดีแค่ไหนเมื่อมีการใช้งานเป็นจำนวนมหาศาลในเวลาเดียวกัน เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าระบบจะทำงานได้เร็ว รับ-ส่งข้อมูลได้ทันท่วงที และโดยรวมแล้วทำงานได้เสถียรไม่ว่าจะมีคนเข้ามาใช้งานมากแค่ไหนก็ตาม
การทดสอบประสิทธิภาพที่ได้รับความนิยมสูงสุดมี 2 แบบ คือ stress test และ load test ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าซอฟต์แวร์นั้นจะตอบสนองกับปริมาณการใช้งานที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างไร อีกวิธีการคือ การทดสอบความทนทานของระบบ ที่นำ stress test และ load test มาประเมินประสิทธิภาพเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการทำงาน
3. การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัติ
การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัติแตกต่างจากการทดสอบซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมที่นักพัฒนาต้องมานั่งคลิกแต่ละส่วนของซอฟต์แวร์แบบแมนวล ตรงที่การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัตินั้นไม่จำเป็นต้องมีคนมาป้อนคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น การทดสอบรูปแบบนี้ทำให้ทีมงานสามารถเจอข้อผิดพลาดได้มากขึ้นและรวดเร็วกว่าการทดสอบแบบแมนวลเพียงอย่างเดียว
การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัติยังช่วยให้โปรเจกต์มีความซับซ้อน้อยนลง ด้วยการลดการสื่อสารระหว่างนักทดสอบระบบ ทีมพัฒนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ลง นอกจากนี้ บริษัทที่พัฒนาโซลูชันที่รองรับหลายภาษายังสามารถใช้การทดสอบด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อลดความจำเป็นในการหา tester มาทดสอบแบบแมนวลในแต่ละภาษาได้อีกด้วย
4. การทดสอบความง่ายในการใช้งาน
QA มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับประสิทธิภาพของประสบการณ์การใช้งาน (UX) และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งาน (UI) ที่คุณเตรียมไว้ใช้กับลูกค้าเป้าหมาย อย่างที่เราเคยบอกไปแล้วว่าลูกค้าจะไม่มาใช้งานผลิตภัณฑ์ของคุณหากคุณไม่ทำให้มันใช้ง่ายและมอบในสิ่งที่พวกเขาต้องการ การทดสอบความง่ายในการใช้งานจึงเป็นตามที่ชื่อบอกไว้ตรงที่มีการประเมินว่าเว็บไซต์นั้นทำงานได้รวดเร็วแค่ไหน ใช้ง่าย และเข้าใจง่ายแค่ไหน การทำ QA รูปแบบนี้ช่วยให้มั่นใจว่าประสบการณ์การใช้งานนั้นมีคุณภาพสม่ำเสมอ น่าใช้งาน ไม่ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไหน เมื่อไร หรืออย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทำวิจัยตลาด ทำ journey mapping และใช้เครื่องมืออื่นๆ ของการทำวิจัย UX ร่วมด้วย
ทีมพัฒนาจะเริ่มทดสอบความง่ายในการใช้งานด้วยการสังเกตว่าผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า และลูกค้าเดิมนั้นใช้งานแอปฯ เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มของคุณอย่างไร ปัญหาที่อาจสร้างความสับสนหรือหงุดหงิด รวมถึงสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบจะถูกทีมบันทึกไว้และนำเสนอในการปรับปรุงระบบครั้งถัดไป การทดสอบความง่ายในการใช้งานช่วยให้คุณมองเห็น UX/UI ของแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรม และรู้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นต้องใช้เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มให้ดียิ่งขึ้น
การทดสอบความง่ายในการใช้งานยังสามารถนำไปใช้ในขั้นตอนการรีวิวของผู้เชี่ยวชาญได้อีกด้วย โดยบริษัทจะหารายชื่อทีมงานจากภายนอกเพื่อทดสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มมุมมองของประสบการณ์การใช้งานที่สดใหม่ และปราศจากอคติ เพราะทีมงานจากภายนอกมักจะมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และมีไอเดียดีๆ ในการปรับปรุงแก้ไขที่คนในมักมองข้าม
5. การทดสอบความปลอดภัย
การทดสอบความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ผู้นำธุรกิจจะนึกถึงเมื่อพูดถึงเรื่องของการปกป้องข้อมูลลับและรักษาความเชื่อมั่นของผู้ใช้ ด้วยเหตุที่ข้อมูลของผู้บริโภคนั้นได้รับการเก็บไว้แบบออนไลน์ และการโจมตีทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ความผิดพลาดในการทดสอบช่องโหว่ของซอฟต์แวร์จึงไม่ควรเกิดขึ้น
การทดสอบความปลอดภัยคือส่วนที่ QA จะโฟกัสด้วยการค้นหาและแก้ไขปัญหาที่อาจทำให้ข้อมูลของคุณและลูกค้าอยู่ในอันตรายอย่างจริงจัง หากมีช่องโหว่เกิดขึ้นในระบบและอาจทำให้แฮกเกอร์หรือผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาโจมตี การทดสอบความปลอดภัยจะช่วยให้คุณเจอช่องโหว่เหล่านี้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากคุณนำไปใช้อย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างเกราะที่ปกป้องข้อมูลจาก SQL injections, spoofing, fishing, และภัยคุกคามอื่นๆ ได้
เนื่องจาก QA ในส่วนนี้มีความอ่อนไหวและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้บริษัทมากมายว่าจ้างบริการทดสอบจากภายนอกเพื่อแก้ปัญหาการเขียนโค้ดเหล่านี้ การทดสอบความปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องใช้วิธีการหลายอย่าง รวมถึงใช้นักพัฒนา นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย นักทดสอบระบบ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อสร้างและดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยอย่างเต็มที่
บทสรุป
แม้ว่าจะมีแอปฯ เว็บไซต์ และบริการทางดิจิทัลไม่กี่อย่างที่เขียนโค้ดมาอย่างไร้ที่ติตั้งแต่แรก แต่ทั้งหมดนี้ก็สามารถปรับปรุงได้ด้วยการทำ QA ซึ่งหากนำ QA มาใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ นอกจากนั้นยังช่วยสร้าง engagement ในระยะยาวให้แบรนด์ของคุณอีกด้วย QA คือสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทดิจิทัลทั้งหลายที่ต้องการผลงานคุณภาพยอดเยี่ยมด้วยการนำ QA มาประเมินตั้งแต่ประสิทธิภาพในการรับมือกับปริมาณการใช้งานสูงสุดไปจนถึงการอุดช่องโหว่ความปลอดภัยของระบบ
การนำทุกรูปแบบของ QA มาใช้ตลอดวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นคุ้มค่ายิ่งกว่าเงินลงทุนในช่วงเริ่มต้นเสียอีก เนื่องจากเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้มากที่สุดในการลดความเสี่ยง เพิ่มชื่อเสียงให้กับแบรนด์ และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาอีกด้วย
หากคุณอยากรู้ว่ามอร์โฟซิสมีตัวเลือกอะไรบ้างในการทำ QA และวิธีอื่นๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ติดต่อทีมงานของเราได้เลย