6 หน้าจอสำคัญที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์มักมองข้าม
เมื่อต้องจัดการกับโปรเจกต์ใหญ่ ความรู้สึกเหนื่อยล้าก็ตามมาได้ไม่ยาก จนบางครั้งอาจลืมไปว่าการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลต้องดีแค่ไหนจึงจะมอบประสบการณ์ผู้ใช้ที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมนักออกแบบถึงได้มองข้ามหน้าจอต่างๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อทำงานในโปรเจกต์ใหญ่
โดยทั่วไปแล้ว นักออกแบบจะเริ่มด้วยฟีเจอร์หลักๆ ได้แก่หน้าหลัก หน้าติดต่อเรา และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญเองก็ลืมนึกถึงรายละเอียดยิบย่อยได้เช่นเดียวกัน เมื่อต้องทำงานภายใต้เดดไลน์ที่กระชั้นชิด
เพื่อไม่ให้ลืมส่วนสำคัญเมื่อต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เราได้รวบรวมหน้าจอที่หลักๆ ที่คุณไม่ควรมองข้าม และเหตุผลว่าทำไมหน้าจอเหล่านี้จึงมีความสำคัญมาไว้แล้ว
1. หน้า error 404
แม้ว่าจะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากบนเว็บไซต์ นักออกแบบหลายคนมักลืมหน้านี้ไป ข้อความ error 404 นั้นไม่เพียงแค่กวนใจผู้ใช้เท่านั้น แต่อาจทำให้ผู้ใช้เลิกใช้งานเว็บได้เลย และยังทำให้ bounce rate เพิ่มขึ้นสูงได้
เป็นไปได้ว่าหน้า error 404 จะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ผู้ใช้แย่ๆ ให้ดีได้หากทำอย่างถูกวิธี เมื่อเกิด error 404 แทนที่จะเก็บมันไว้ไม่ให้ผู้ใช้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เราควรสร้างหน้า error ที่มีความโดดเด่นและน่าใช้งานมากกว่า โดยการใส่รูปภาพที่สร้างสรรค์หรือตลกๆ
วิธีหนึ่งที่จะเสริมสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีได้คือการเลี่ยงใช้คำที่กล่าวโทษผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะใช้ประโยคบอกว่า ‘คุณอยู่ผิดหน้าแล้ว’ ลองใช้ภาพคนจริงๆ แล้วแปะคำว่า ‘สงสัยจอห์นทำหน้าที่ไม่ค่อยดี’ เพื่อเพิ่มความตลกให้กับสถานการณ์นี้ดูสิ
2. เครื่องหมาย loading
เครื่องหมาย loading จะแสดงขึ้นเมื่อหน้ากำลังโหลด เป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการทำให้ผู้ใช้ยังอยู่บนเว็บไซต์นั้น หากไม่บอกว่าต้องใช้เวลาโหลดกี่วินาทีหรือกี่นาทีล่ะก็ ผู้ใช้อาจไม่อยู่รอต่อแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับแก้เพียงนิดๆ หน่อยๆ จะทำให้ผู้ใช้ยังอยู่ที่หน้าจอนั้นได้
แม้ว่าการตอบรับโดยทันทีคือสิ่งที่สมควรทำที่สุด แต่ผลิตภัณฑ์ของคุณอาจทำงานไม่ทันมาตรฐานของ page speed อย่างเช่นเมื่ออินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ไม่เร็วพอ ในสถานการณ์แบบนี้ คุณควรทำให้ผู้ใช้มั่นใจว่าหน้าจอจะทำงานได้ดีตามปกติในภายหลัง เพื่อลดความตึงเครียดของผู้ใช้
แต่เพราะเครื่องหมาย loading ดูน่าเบื่อไปหน่อย ผู้ใช้อาจจะไม่อยู่บนหน้าจอแล้วและใช้ลิงก์อื่นหรือทำอย่างอื่นแทน เมื่อใช้การออกแบบเชิงโต้ตอบ เราจะสามารถสื่อสารกับผู้ใช้ และทำให้พวกเขารู้สึกสนุกได้
3. Empty state
เมื่อไม่มีข้อมูลจะแสดงผล ผู้ใช้จะพบกับ empty state แต่ตรงข้ามกับชื่อแล้ว empty state นั้นไม่ควรถูกปล่อยให้ว่าง
Empty state อาจทำให้ผู้ใช้สับสนและขัดใจได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไม่อยากตอบโต้กับผลิตภัณฑ์ และยังส่งผลให้ความพึงพอใจของผู้ใช้ลดลงอีกด้วย เราควรมอง empty state ให้เป็นฟีเจอร์ที่สำคัญซึ่งจะบอกผู้ใช้ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร
วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้ภาพที่น่าสนใจไปพร้อมๆ กับข้อความที่ดี อาจใช้รูปภาพ สัญลักษณ์ หรือกล่องข้อความที่บ่งบอกปัญหาโดยใช้ตัวอักษรสวยๆ ก็ได้
Empty state ควรทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในกระบวนการ onboarding เพื่อนำทางผู้ใช้ คุณควรให้ข้อมูลผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าจะปล่อยให้มันว่างเปล่าไปเลย
4. ไฟล์รูปภาพขาดหาย
รูปภาพคือองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับทั้งแอปฯ และเว็บไซต์ การรับรองว่า UX จะไม่เกิดความเสียหายอย่างเช่น รูปภาพขาดหรือหายไประหว่างโหลดเองก็สำคัญเช่นเดียวกัน
เป็นไปได้ว่าหากหน้าเว็บหรือแอปฯ ต้องโหลดรูปภาพเป็นล้านๆ รูป ไฟล์รูปภาพบางส่วนอาจขาดหายไป เมื่อต้องใส่รูปภาพลงไปในแอปฯ ผู้ใช้อาจพบเจอกับปัญหานี้ได้
เช่นเดียวกันกับ empty state เราควรนำรูปภาพที่น่าสนใจและแสดงข้อความที่ชัดเจนมาแทนที่ไฟล์ที่ขาดหาย เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบถึงปัญหาและสาเหตุ ทั้งนี้การทำให้ภาพนั้นสอดคล้องกับบริบทของเว็บไซต์โดยรวมจะเป็นผลดีมากขึ้นอีกด้วย
ที่มา: dribble
5. หน้าเกี่ยวกับกฎหมาย
การสร้างหน้าเกี่ยวกับกฎหมายอาจไม่น่าตื่นเต้นหรือสนุกเท่าไร แต่ผู้ใช้จะค้นหาหน้านี้แน่นอนเมื่อมีคำถาม หน้าเกี่ยวกับกฎหมายเหล่านี้ประกอบไปด้วยนโยบายความเป็นส่วนตัว เงื่อนไขและข้อตกลงการให้บริการ และอื่นๆ
หน้าเหล่านี้มักถูกมองข้ามไปจนกว่าการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะสร้างได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม การสร้างหน้านี้และนำมันไปใส่ในที่ที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
คุณอาจมีคำถามว่า ทำไมต้องสร้างหน้าที่คนส่วนใหญ่ไม่อ่านด้วยล่ะ คำตอบคือหน้าเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสัญญาระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้เมื่อความเป็นส่วนตัวเริ่มมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ใช้ที่อาจกลายมาเป็นลูกค้าได้ในอนาคต
6. การตั้งค่าการแจ้งเตือน
เป็นเรื่องดีเมื่อแอปฯ บอกผู้ใช้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และมันจะดียิ่งกว่าหากพวกเขาได้ยินเสียงแจ้งเตือน แต่หลังจากครั้งที่ 15 ผู้ใช้อาจไม่อยากได้ยินมันแล้วก็ได้
ผู้ใช้มักไม่รังเกียจเมื่อแอปฯ หรือช่องทางข่าวสารที่ได้รับมาใหม่ส่งข้อความแจ้งเตือน แต่เมื่อผ่านไปสักพักอาจน่าขัดใจได้ แน่นอนว่าคุณคงไม่อยากให้ผู้ใช้ลบแอปฯ เพราะการแจ้งเตือนซ้ำๆ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการให้ผู้ใช้เลือกรับการแจ้งเตือนที่ต้องการและความถี่ของมันเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่สำคัญ ทว่านักออกแบบผลิตภัณฑ์มักมองข้ามอยู่บ่อยๆ
ยกระดับการออกแบบของคุณ
เมื่อต้องออกแบบในโปรเจกต์ต่อไป คุณควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้และเตรียมเช็กลิสต์เอาไว้ ฟีเจอร์ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้โปรเจกต์ของคุณเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ในเชิงบวกอีกด้วย
หากคุณต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบ UX/UI การวิจัยและกลยุทธ์ UX และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เราช่วยคุณได้ เพราะที่มอร์โฟซิส เรามีนักออกแบบหลากหลายที่พร้อมจะพัฒนากระบวนการออกแบบของคุณ ลองเยี่ยมชมงานที่ผ่านมาของเราเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้เลย