7 ตัวชี้วัดที่ช่วยให้คุณทำธุรกิจ e-commerce ได้ประสบความสำเร็จ
ธุรกิจ e-commerce เป็นเทรนด์ที่ทุกบริษัทรวมถึงผู้ประกอบการทุกคนควรทำ นั่นก็เพราะว่าทุกวันนี้เวลาใครสักคนนึกอยากได้ของอะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่คนคนนั้นทำก็คือการเปิด e-commerce platform ไม่ว่าจะเป็น Shopee หรือ Lazada ที่นักช็อปออนไลน์ชาวไทยทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกับการหาซื้อสิ่งของทางออนไลน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นอย่างดี
บรรดาธุรกิจที่เข้ามาลุยแข่งขันในตลาด e-commerce ตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์ดังระดับโลก ทุกรายล้วนอยากมียอดขายเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไปพร้อมกัน
ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้นั้น คุณจะต้องใส่ใจตัวชี้วัดที่สำคัญต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผนที่ออกแบบไว้และคว้าโอกาสต่างๆ ได้ครบไม่มีอะไรตกหล่น
หากคุณพร้อมแล้วเราก็จะพาไปดูว่าหากคุณอยากทำธุรกิจ e-commerce ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องพิจารณาตัวชี้วัดที่สำคัญอะไรบ้างผ่านบทความนี้
1. เข้าใจ online customer journey ของธุรกิจ e-commerce
ถ้าอยากขายสินค้าหรือบริการให้โดนใจลูกค้าตั้งแต่ที่พวกเขาเห็นแบรนด์ของคุณบนแพลตฟอร์ม e-commerce ของคุณเองหรือแม้แต่แอปฯ ช็อปปิ้งยอดฮิตอย่าง Shopee, Lazada, Amazon, Aliexpress หรือ Tiktok shop ที่กำลังมีคนเข้าไปซื้อของมากขึ้นเรื่อยๆ คุณก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับระหว่างทางนั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าในแต่ละขั้นนั้นมีจุดสัมผัส หรือ touchpoint ที่ทำให้ลูกค้าพอใจหรือส่งผลต่อการตัดสินใจที่แตกต่างกันนั่นเอง
สร้างการรับรู้ (awareness) ให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ของคุณ
อันดับแรกคุณต้องรู้ก่อนว่าปกติแล้วลูกค้าจะค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการของคุณผ่านช่องทางไหนบ้าง เพื่อที่คุณจะได้เตรียมข้อมูลหรือเนื้อหาเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าหันมาสนใจในแบรนด์ของคุณมากขึ้น ได้แก่
การค้นหาผ่าน Google ด้วยการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพ
ทำ social media marketing ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
โฆษณาทางออนไลน์และออฟไลน์
โปรโมทผ่านแอปพลิเคชัน
การบอกกันแบบปากต่อปากผ่านคนใกล้ชิด
พิจารณา (consideration) ข้อมูลที่ทำให้ลูกค้าสนใจแบรนด์ของคุณ
เมื่อรู้ว่าลูกค้ารู้จักคุณผ่านทางไหนแล้ว ก็มาถึงช่วงที่พวกเขาจะเริ่มพิจารณาเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการของคุณกับของแบรนด์อื่นๆ ซึ่งในจุดนี้คุณสามารถทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในแบรนด์ของคุณได้ ด้วยการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทำหน้าสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์ที่มีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนและต้องเข้าใจได้ง่าย
รูปภาพสินค้าต้องชัดเจนและมีวิดีโอที่ช่วยให้ลูกค้าเห็นถึงคุณภาพของแบรนด์คุณที่ดีกว่า
ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบโพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และการรีวิวจากผู้ใช้จริง เป็นต้น
ยิงโฆษณาบน Facebook ads, Google ads หรือช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณพบเห็นได้บ่อย
ใช้ e-mail marketing เพื่อนำเสนอดีลดีๆ ที่ลูกค้าไม่อาจปฏิเสธได้ในขณะนั้น
ทำรีวิวสินค้าให้จูงใจจากผู้บริโภคตัวจริง สามารถทำได้จากทั้งแบรนด์ และการตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์
ตัดสินใจ (decision) มอบสิ่งที่ทำให้ลูกค้าอยากคลิกซื้อสินค้าหรือบริการของคุณในขณะนั้น
หากลูกค้าเข้ามาถึงขั้นตอนที่ใกล้จะตัดสินใจคลิกเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการผ่าน e-commerce platform ของคุณเองหรือที่ไหนก็ตามแล้ว ตอนนี้แหละคือจังหวะที่คุณต้องนำเสนอตัวกระตุ้นเพื่อให้ลูกค้าห้ามใจไม่ไหวที่จะซื้อทันที ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ให้พร้อม
ระบบเพิ่มสินค้าเพื่อเตรียมชำระเงินต้องเข้าใจได้ง่าย (กรณีที่เป็นแพลตฟอร์ม e-commerce ของคุณเอง)
มีคูปองหรือส่วนลดที่พร้อมให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ทันที เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้ของในราคาสุดคุ้ม
ตัวเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งเก็บเงินปลายทาง, โอนผ่านธนาคาร, จ่าย QR code, บัตรเดบิต/เครดิต และตัวเลือกการผ่อนชำระ
ระบบการยืนยันการสั่งซื้อและส่งใบเสร็จรับเงินที่มีรายละเอียดการสั่งซื้อครบถ้วน
บริการหลังการขาย (service/ownership) ให้ลูกค้ามั่นใจที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการของคุณ
เพราะการทำธุรกิจ e-commerce ไม่ใช่แค่ทำระยะสั้นและหวังผลเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการทำให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของคุณซ้ำอีกเรื่อยๆ ดังนั้นคุณจึงควรที่จะเตรียมปัจจัยที่ช่วยทำให้ลูกค้าพอใจเมื่อได้ใช้อะไรก็ตามจากแบรนด์ของคุณ
มีแผนกบริการลูกค้าหลังการขาย (CRM) ที่พร้อมช่วยเหลือลูกค้ายามที่พวกเขามีปัญหากับสินค้าหรือบริการ รวมถึงเวลามีข้อสงสัยต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดโอกาสให้ลูกค้ารีวิวการใช้งานจริง พร้อมเก็บข้อมูลที่ได้มาเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
ต้องมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถส่งคืนสินค้าหรือการันตีความพึงพอใจ
2. ลูกค้าใช้จ่ายอย่างไร ใช้เท่าไร ต้องรู้ให้ละเอียด
การทำธุรกิจ e-commerce ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ของคุณเอง หรือ Shopee, Lazada รวมถึงหลายๆ แพลตฟอร์ม เปิดโอกาสให้คุณเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยให้สามารถพัฒนากลยุทธ์การตลาดออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเด็น AOV, CLV และกำไรเฉลี่ยต่อลูกค้า ที่นำมาต่อยอดเพื่อคิดแคมเปญการตลาดที่ทำให้ลูกค้าสนใจและอยากซื้อสินค้าหรือบริการของคุณมากกว่าเดิม
Average order value (AOV) ยิ่งลูกค้าซื้อของโดยเฉลี่ยต่อหนึ่งออเดอร์มากขึ้นก็ยิ่งดี
เจ้าคำว่า AOV ก็คือมูลค่าคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ย หรือบางคนอาจะเรียกว่า Basket Size (ขนาดตะกร้าสินค้า) เพราะคงจะดีกับธุรกิจ e-commerce ของคุณมากกว่า ถ้าหากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าในแต่ละออเดอร์เยอะ แม้จะไม่ได้มีจำนวนออเดอร์มากก็ตาม และต่อจากนี้คือ 6 กลยุทธ์การตลาดที่สามารถช่วยให้ AOV ของคุณเพิ่มขึ้นได้
Cross-selling จัดโปรขายสินค้าคู่กัน ซื้ออันนี้เพิ่มอันนั้นได้ส่วนลดเพิ่มอีก
เพิ่มยอดขาย นำเสนอของชนิดเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า เพื่อเคลียร์สต็อกสินค้า
โปรขายยกแพ็ก กระตุ้นให้ลูกค้าซื้อของเป็นแพ็กที่ละหลายๆ ชิ้น แทนการซื้อสินค้าเดียวกันทีละรายการ
ส่งฟรี ทำโปรส่งฟรี เช่น มีเงื่อนไขสั่งครบ x,xxx บาท ไม่ต้องชำระค่าจัดส่ง เป็นต้น
แจกคูปอง ให้คูปองส่วนลดไว้ใช้จ่ายครั้งถัดไป
คืนสินค้าได้ สร้างความมั่นใจและทำให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้ออีก
Customer lifetime value (CLV) มูลค่าที่ลูกค้าแต่ละรายใช้จ่ายไปกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณ
เชื่อไหมว่า 67% ของลูกค้าที่ซื้อสินค้าของคุณนั้นคือลูกค้าเก่าที่เคยซื้อมาก่อนแล้ว นั่นหมายความว่าหากคุณสามารถทำให้ CLV อยู่ในระดับที่ดีได้ ธุรกิจ e-commerce ของคุณก็มีโอกาสที่จะคว้ากำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับการเพิ่ม CLV ก็มีอยู่ 8 ข้อดังนี้
Referral เชิญคนรู้จักให้มาเป็นลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิมไปพร้อมกัน
Upselling นำเสนอสินค้าที่ดีกว่าที่มาพร้อมคุณสมบัติเหนือกว่าให้ลูกค้าอยากจ่ายเพิ่ม
Cross-selling กระตุ้นให้ลูกค้าซื้อเพิ่มด้วยสินค้าที่เกี่ยวข้องและใช้ร่วมกันได้
แคมเปญเฉพาะกลุ่ม ด้วยโปรโมชันที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
ฟังเสียงลูกค้า เปิดโอกาสให้ลูกค้าบอกในสิ่งที่เขารู้สึกกับสินค้าหรือบริการของคุณ
ทำคอนเทนต์ต่อเนื่อง ให้ความรู้หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า ทั้งบทความ วิดีโอ หรืออินโฟกราฟิก
ดูแลลูกค้าให้เต็มที่ ยิ่งมีบริการลูกค้าที่ตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าต้องการความช่วยเหลือได้ไว หรือมีหลายช่องทางติดต่อก็ยิ่งดี
ส่วนลดลูกค้าปัจจุบัน ให้สิทธิพิเศษต่างๆ กับลูกค้าเดิมเพื่อมอบความประทับใจและทำให้พวกเขาอยากซื้อของจากคุณต่อไปเรื่อยๆ
3. ใส่ใจว่าลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการช็อปปิ้งอย่างไร
PWC บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำเปิดเผยว่า กว่า 86% ของลูกค้ายินดีซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นหากพวกเขาได้รับประสบการณ์ในการช็อปปิ้งที่ยอดเยี่ยม นั่นหมายความว่าหากคุณสามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจตลอดกระบวนการซื้อสินค้าหรือบริการได้ คุณก็จะปิดการขายได้เร็วขึ้นและอาจมีโอกาสได้ยอดขายที่มากกว่าเดิมด้วย โดยเราจะมาบอกถึง 3 ตัวชี้วัดที่คุณควรใส่ใจ
Shopping cart abandonment และ checkout abandonment
หาให้เจอว่าลูกค้าไม่ซื้อของเพราะอะไร
เป็นบ่อยไหมเวลาที่คุณกำลังจะซื้อของอะไรสักอย่าง แต่อยู่ดีๆ ก็ทิ้งของไว้ในตะกร้า หรือไม่ยอมซื้อของทั้งๆ ที่ใส่ไว้ในตะกร้าพร้อมสำหรับการชำระเงินแล้ว นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยมากในเว็บไซต์รวมถึงแพลตฟอร์ม e-commerce ทุกแห่ง ซึ่งถ้าคุณอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ก็ต้องรู้ก่อนว่า อะไรบ้างคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าไม่โอเคกับประสบการณ์ที่ได้รับ
ค่าส่งแพง ลูกค้าจำนวนมากมักถอดใจไม่ยอมกดจ่ายเงินเมื่อเห็นค่าส่งที่แพง
บังคับสมัครบัญชี บางทีลูกค้าก็ไม่ได้อยากสมัครบัญชีให้วุ่นวายเพียงเพื่อจะซื้อสินค้าเพียงชิ้นเดียว
ขั้นตอนเยอะ ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากเจอหลายขั้นตอนจนกว่าจะชำระเงินได้
ไม่แสดงราคารวม เว็บไหนที่ไม่แสดงราคาสินค้าในรายทั้งหมด ลูกค้าก็จะรู้สึกไม่โอเค
เว็บขัดข้อง ถ้าอยู่ดีๆ เว็บก็ค้างระหว่างที่กำลังจะชำระเงิน ลูกค้าคงไม่สบอารมณ์แน่ๆ
เว็บไม่น่าเชื่อถือ คงไม่มีใครอยากซื้อของกับเว็บไซต์ที่ดูไม่เรียบร้อยหรือไม่มีใบรับรอง SSL เพราะเสี่ยงที่จะถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต
Bounce rate สูงไม่ดี ต้องมีโซลูชันที่ทำให้ลูกค้าอยากอยู่ต่อ
คงไม่มีเจ้าของธุรกิจคนไหนชอบที่ลูกค้าเข้ามาถึงร้าน ดูสินค้า และก็ออกไปโดยไม่ได้ซื้ออะไร ซึ่งสิ่งที่ใช้วัดการจากไปของลูกค้ากลุ่มนี้เราจะเรียกว่า bounce rate ที่ปกติแล้วค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมสำหรับเว็บไซต์ e-commerce จะอยู่ราว 20-55% ซึ่งคุณควรทำให้ลูกค้าอยากอยู่ในเว็บไซต์เพื่อดูสินค้าหรือบริการของคุณต่อ โดยเรามีคำแนะนำดังนี้
Mobile-friendly ยุคนี้ทุกคนซื้อของผ่านแอปฯ หรือดูสินค้าที่ต้องการผ่านมือถือกันเยอะ ดังนั้นเว็บของคุณต้องแสดงผลบนมือถือหรือแท็บเล็ตได้ดีและใช้ฟังก์ชันได้ครบถ้วน
เว็บต้องโหลดเร็ว ลูกค้าทุกคนล้วนใจร้อนอยากเห็นรูปภาพและข้อมูลสินค้าที่สนใจได้ไวที่สุด ดังนั้นเว็บที่โหลดช้าจึงถือเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับลูกค้า
ความเกี่ยวข้อง และตัวเลือกสินค้า แน่นอนว่าหากคุณกำลังเดินหากางเกงยีนส์ คุณก็คาดหวังว่าจะเจอสินค้าประเภทเดียวกัน การนำสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องไปไว้ในที่เดียวกันอาจทำให้ลูกค้าแวะร้านถัดไปได้
UX ดี ถ้าเว็บถูกออกมาแบบดีถูกต้องตามหลัก UX ลูกค้าก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอหรือขายให้ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งเรื่ององค์ประกอบ ตัวอักษร หรือปุ่มต่างๆ
เนื้อหามีคุณภาพ หากคอนเทนต์บนเว็บไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าอยากรู้ สะกดคำไม่ถูกต้อง หรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ลูกค้าก็คงไม่อยากที่จะกลับมาหาคุณอีกในอนาคต
4. ต้องรู้จักลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำอย่างลึกซึ้ง
เวลาที่ทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็น e-commerce หรือออฟไลน์ คุณควรทำอะไรก็ได้ให้ลูกค้าใหม่ที่เข้ามากลายเป็นลูกค้าขาประจำที่จะกลับมาซื้อสินค้าของคุณอีกเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือกลยุทธ์ repeat purchases นั่นเอง โดยสิ่งที่ช่วยให้คุณสามารถทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จได้ก็คือเรื่องที่เราจะบอกต่อไปนี้
Repeat purchases จำนวนลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ
ตัวชี้วัดนี้คือสิ่งที่บ่งบอกว่าแผนการตลาดต่างๆ ที่คุณวางไว้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน แถมยังวัดได้ด้วยว่าปัจจุบันคุณสามารถสร้างกลุ่มลูกค้าที่มี brand royalty กับสินค้าหรือบริการของคุณได้ในจำนวนเท่าไรแล้ว และนี่คือเรื่องที่ช่วยให้คุณมี repeat purchases ที่สูงขึ้นได้ถ้าทำตามอย่างต่อเนื่อง
วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า กรณีที่ลูกค้าสมัครสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของคุณ ก็จะรู้ได้ว่าลูกค้าแต่ละคนมีความสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ พร้อมกับนำเสนอโปรโมชันที่โดนใจลูกค้ากลุ่มนี้ แน่นอนพวกเขามีโอกาสสูงมากที่กลับมาซื้อสินค้าของคุณอีกครั้ง
คุณภาพต้องดีสม่ำเสมอ สินค้าหรือบริการที่ลูกค้าได้รับไปนั้นจะต้องดีเหมือนครั้งแรกที่ได้ซื้อไปใช้งาน รวมถึงคุณภาพของบริการหลังการขายที่ดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือเมื่อลูกค้าเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้
พัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง โลกธุรกิจที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณต้องเก็บสิ่งที่ลูกค้าชื่นชมและไม่แฮปปี้กับสินค้าของคุณ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงและพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต เพียงเท่านี้ลูกค้าก็จะกลับมาซื้อซ้ำอย่างแน่นอน
Repeat purchase frequency ความถี่ในการซื้อซ้ำ
อีกสิ่งที่คุณต้องรู้ก็คือความถี่ในการซื้อซ้ำของลูกค้าขาประจำ ว่าลูกค้าในกลุ่มนี้กลับมาซื้อสินค้าหรือบริการของคุณเป็นจำนวนอีกกี่ครั้ง ตัวชี้วัดนี้ช่วยให้คุณสามารถพัฒนาความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์เดียวกับในส่วนของ repeat purchases นั่นเอง
5. Customer retention rate ลูกค้าเก่ามีค่า อย่าให้พวกเขาหนี
อย่างที่เราบอกคุณไปแล้วว่าลูกค้าเก่านั้นคือคนที่กลับมาซื้อสินค้าของคุณซ้ำอีกเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ใช้วัดลูกค้ากลุ่มนี้เรียกว่า customer retention rate (CRR) หรือ อัตราการรักษาลูกค้าเก่า ที่เปรียบเทียบกับจำนวนลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำอีกในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่นับรวมลูกค้าใหม่ที่เข้ามาแต่อย่างใด
เหตุผลที่ต้องรักษา CRR ให้สูงอยู่เสมอ ก็เพราะว่าการทำแคมเปญหรือโปรโมชันใดๆ ก็ตามกับลูกค้ากลุ่มนี้ จะใช้งบประมาณน้อยกว่าการหาลูกค้าใหม่ค่อนข้างมาก ไม่เพียงเท่านี้ ลูกค้าเก่าสุดรักของคุณก็มีแนวโน้มที่จะบอกต่อถึงความดีงามของสินค้าหรือบริการที่คุณมีอยู่ให้กับคนรอบข้าง นี่คือสาเหตุว่าทำไมการรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจ e-commerce ไม่ควรมองข้าม
6. Customer acquisition cost เช็กให้ชัวร์ว่าใช้เงินหาลูกค้าใหม่คุ้มไหม
จะดีกว่าไหมหากสามารถหาลูกค้าใหม่ได้ด้วยการจ่ายเงินไปน้อยที่สุด และตัวชี้วัดที่คุณควรใส่ใจไม่แพ้กันก็คือ customer acquistion cost (CAC) ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ e-commerce และแบบออฟไลน์ดั้งเดิม
Customer acquistion cost พูดง่ายๆ ก็คือต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการหาลูกค้าใหม่ 1 คน ยิ่งคุณสามารถหาลูกค้าใหม่ได้มากเท่าไร เทียบกับเงินทั้งหมดที่จ่ายไป เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าโฆษณา ฯลฯ ดูว่ามีอัตราส่วนความคุ้มค่าขนาดไหน เช่น
ใช้เงิน 400,000 บาท หาลูกค้าใหม่ได้ 50,000 คน ในไตรมาสที่ 1 ของปี
ใช้เงิน 444,000 บาท หาลูกค้าใหม่ได้ 53,500 คน ในไตรมาสที่ 2 ของปี
จะเห็นได้ว่าไตรมาสที่ 1 ของปี มี CAC ที่ดีกว่า เพราะเท่ากับว่าจ่ายไป 8 บาท ต่อลูกค้าใหม่ 1 คน เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีที่ค่าใช้จ่ายอยู่ 8.29 บาท ต่อลูกค้าใหม่ 1 คน
แน่นอนว่าคุณสามารถทำให้ค่า CAC ดีขึ้นได้ เพียงทำตามคำแนะนำของเราดังต่อไปนี้
โฟกัสลูกค้าให้ตรงเป้า ถ้ารู้ว่าใครคือลูกค้าตัวจริงของคุณ ก็ให้ทำแคมเปญหรือยิงโฆษณาที่กำหนดให้เข้าเป้าที่แม่นยำไปเลย หยุดการทำอะไรหว่านแหเพราะหวังว่าจะได้ลูกค้าเป็นวงกว้าง
Retargeting ทำแคมเปญกับลูกค้าเก่าที่เคยซื้อหรือใส่สินค้าของคุณไว้ในตะกร้าแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ให้กลับมาซื้อสินค้าหรือบริการของคุณอีกครั้ง ซึ่งประหยัดเงินที่ใช้แถมได้ยอดขายคุ้มกว่าการหาลูกค้าใหม่อีกด้วย
เพิ่ม conversion rate วิธีดีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ได้ conversion rate เยอะๆ ก็คือการทำ A/B testing เพื่อหาว่าคอนเทนต์ หน้าเว็บ หรือแคมเปญแบบไหนได้รับความสนใจและเปลี่ยนให้ lead มาเป็นลูกค้าได้มากกว่ากัน เมื่อรู้แล้วก็ลุยให้เต็มที่ในสิ่งที่ดีกว่าได้เลย
7. ทำ SEO ดีไหม conversion สูงหรือเปล่า และลูกค้าซื้อของผ่านทางไหนมากที่สุด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่ง ที่กำลังเลือกซื้อสินค้ามักมองข้ามโฆษณาไป หากคุณได้ทำทุกอย่างที่ช่วยให้ online customer journey สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องมาดูเรื่องของตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ SEO, lead, และช่องทางที่ลูกค้าเข้ามายังเว็บไซต์หรือ e-commerce platform ของคุณ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นเรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
Organic search ranking บนหน้าการค้นหาของ Google ยิ่งสูง ยิ่งดี
ในการทำธุรกิจ e-commerce เราจะไม่ใช้การคาดเดาเพื่อวางแผนการตลาดหรือตัดสินใจอะไรที่มีความสำคัญ แต่เราจะใช้วิธีการวัดว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ตั้งแต่การที่พวกเขาใช้ Keyword คำค้นหาอะไรที่พาจนมาเจอกับสินค้าและบริการของคุณ
หากคุณสามารถทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ได้ดีจนมีคีย์เวิร์ดที่ตรงกับสิ่งลูกค้ากำลังสนใจและค้นหาเป็นจำนวนมาก สินค้าและบริการของคุณก็ยิ่งมีโอกาสขายได้มากขึ้นเท่านั้น และยังส่งผลให้อันดับของหน้าผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของคุณสามารถขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยให้ยอดการเข้าชมมีเข้ามาอย่างไม่ขาดสายอีกด้วย
Store sessions รู้ได้ว่ามาจากไหนก็พัฒนากลยุทธ์การตลาดได้เหมาะสม
ถ้ารู้ว่า lead ที่ได้กลายมาเป็นลูกค้าผู้มีอุปการคุณมาจากช่องไหนมากที่สุด ก็จะสามารถวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้อย่างถูกต้อง โดยให้คุณลองกำหนดตัวชี้วัดในช่องทางออนไลน์ดังต่อไปนี้
Organic ลูกค้าที่มาจากการค้นหาผ่าน Google
Direct ลูกค้าที่มาจากการเข้าสู่เว็บไซต์ของคุณโดยตรง
Social ลูกค้าที่มาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่คุณมี
E-mail ลูกค้าที่มาจากการคลิกอีเมลการตลาดที่คุณส่งไป
ทำธุรกิจ e-commerce ของคุณให้ประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของ Morphosis
7 ตัวชี้วัดที่เรานำเสนอเพื่อช่วยให้คุณสามารถพาธุรกิจ e-commerce ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการทำ พร้อมด้วยความเข้าใจในลักษณะของสินค้า บริการ รวมถึงกลุ่มลูกค้าหลักว่าพวกเขามีปัญหาหรือต้องการอะไร เพื่อที่คุณจะได้นำเสนอสิ่งที่ลูกค้ารู้สึกว่าใช่ทันทีที่ได้พบเห็นสินค้าหรือบริการของคุณ
Morphosis คือดิจิทัลเอเจนซีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล, การออกแบบ UX/UI, การทำ SEO รวมถึงการทำ UX research และอื่นๆ เรายินดีที่จะช่วยธุรกิจของคุณให้สามารถแข่งขันในตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ในสิ่งที่ลูกค้าของคุณต้องการอย่างแท้จริง ปรึกษาเราตอนนี้