UX Writer จะทำงานอย่างไรในยุคที่ AI ครองเมือง
เผยแพร่เมื่อ 14 Mar 2023 โพสไปที่หลังจากที่โลกได้รู้จักกับ ChatGPT รวมถึง AI เจ้าอื่นๆ ที่เข้ามาตีตลาดในยุคนี้ก็ทำให้ UX writer และคนทำงานสายเทคโนโลยีหลายๆ คนกลัวว่าจะต้องตกงานกันหมดเพราะโดน AI ที่สามารถตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง รู้แทบทุกเรื่อง เขียนคอนเทนต์ได้แทบทุกชนิด แย่งงานไป
ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานด้านคอนเทนต์และ UX writing โดยตรง แม้จะยอมรับว่า AI เหล่านี้เก่งจนน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวมากขนาดนั้น และไม่คิดว่าจะสามารถมาแทนที่คนที่ทำงานด้าน UX writer ได้จริง หรือต่อให้ในอนาคตมีการลดการจ้างงาน UX writer ลง ก็อาจมีงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เราสามารถทำได้เกิดขึ้นมาแทนที่ เหมือนกับที่พอมีเครื่องจักร ก็ต้องมีคนควบคุมเครื่องจักร มีคนออกแบบ และมีคนซ่อมอีกที ไม่ว่าเครื่องจักรนั้นจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนก็ตาม
ลองคิดดูสิว่า แม้แต่งาน UX writer เอง ก็เพิ่งมีกันไม่ถึง 10 ปีเท่านั้นเอง เป็นงานที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เทคโนโลยีในยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกลายเป็นเรื่องธรรมดาและใครๆ ก็เข้าถึงได้ แต่นักเขียนนิยายที่ขายหนังสือเป็นเล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษและน้ำหมึก ยังคงอยู่รอดได้ ตลาดหนังสือทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ แม้จะไม่เฟื่องฟูเท่ายุคก่อนๆ ก็ตาม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีคนกลัวว่า e-book จะมากลืนกินสิ่งพิมพ์ไปจนหมด
หากคุณเป็น UX writer หรืออาจจะทำงานด้านอื่นๆ ในสายเทคโนโลยี แต่ยังรู้สึกกลัว AI อยู่ก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีกที่กลัว เพราะความกลัวนี้จะเปลี่ยนเป็นพลังให้คุณหาทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณพอจะทำได้เพื่อให้ตัวเองพร้อมรับมือกับ AI
5 แนวทางเอาตัวรอดของ UX writer ในยุค AI
1. ใช้ AI ช่วยทำงานให้มากที่สุด และใช้ให้เป็น
แทนที่จะกลัวว่า AI จะทำให้ตกงานและไม่กล้าใช้ คุณควรหันมาใช้ AI ช่วยทำงานดีกว่า เพราะ AI คือตัวช่วยชั้นเลิศที่ทำให้คุณสามารถหาไอเดียมาทำงานได้ในวันที่เร่งรีบหรือคิดอะไรไม่ออก ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนยุ่งยากหรือน่าเบื่อบางอย่าง แบ่งเบาภาระในการทำงานบางอย่างซ้ำๆ หรือมีปริมาณมากๆ ได้ ช่วยวิเคราะห์ตลาดหรือพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ ทั้งยังช่วยตรวจสอบข้อมูลและแจ้งเตือนเพื่อลดข้อผิดพลาดลงได้อีกด้วย
แล้วคุณจะพบว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่มี AI งานหลายๆ อย่างที่เคยทำแล้วรู้สึกว่าใช้เวลานาน หรือทำยาก พอมี AI ใช้ กลับกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นทันทีจนน่าทึ่ง ทำให้คุณมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ ในเมื่อเทคโนโลยีมีไว้ให้เราใช้ เราก็ควรใช้จริงไหม
แต่ก็อย่าให้ถึงขั้นโยนภาระทุกอย่างให้ AI หมด เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่น ไม่เจอปัญหาการใช้งานอันเนื่องมาจากการที่คุณพึ่งพา AI มากเกินไปแล้วไม่ได้ขัดเกลาผลิตภัณฑ์ให้ดีพอ
2. รู้ข้อจำกัดของ AI
แม้ AI จะได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำยุคและมีฐานข้อมูลขนาดมหึมาจนดูเหมือนไร้เทียมทาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ AI ยังทำได้ไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ เช่น การทำความเข้าใจกับธรรมชาติของภาษาและสำนวนที่มีความสลับซับซ้อนหรือแปลได้หลายความหมาย การทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือการมีความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ เป็นต้น
เพราะ AI นั้นแท้จริงแล้วก็คือโปรแกรมที่ออกแบบมาในการทำงานตามคำสั่งหรือ prompt ที่เรากรอกลงไปเท่านั้น ไม่ได้คิดริเริ่มอะไร หรือลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง และมีแบบแผนในการสื่อสารอยู่พอสมควร AI จึงไม่สามารถสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติได้เหมือนที่เราพูดคุยกัน ดังนั้น หน้าที่ของ UX writer คือการมองให้ออกว่าจุดด้อยเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของ AI อย่างไร
เมื่อรู้ข้อจำกัดแล้ว ก็ควรคิดต่อไปว่าหากต้องนำไปใช้งานจริง มีส่วนไหนบ้างที่ AI สามารถช่วยงานได้ดี ส่วนไหนที่ต้องคอยตรวจสอบ และส่วนไหนที่ UX writer ควรทำด้วยตัวเองทั้งหมด

3. เน้นการตอบสนองอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์
สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ และอาจไม่มีวันทำได้เลยก็คือเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี้เองคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ UX writing มีคุณค่า และสร้างประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับผู้ใช้ได้ ดังนั้น หากคุณเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดี รู้ว่าผู้ใช้รู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร และควรได้รับสิ่งใด จะทำให้คุณสามารถสร้างคอนเทนต์หรือก๊อปปี้ที่เหมาะสมที่สุดได้
ยกตัวอย่างเช่น การทำ chat bot หรือระบบ voice assistant นั้นไม่สามารถพึ่งพา AI เพียงอย่างเดียวได้ UX writer ต้องปรับวิธีการสื่อสาร ปรับคำ ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์มีความน่าใช้งาน รับรู้ได้ถึงความใส่ใจ ประทับใจในคุณภาพ และมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Apple, Amazon และ Google กำลังพยายามทำอยู่กับระบบของตัวเอง
4. หาความรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ
หากคุณหยุดพัฒนาตัวเอง นอกจากจะเสี่ยงโดน AI แย่งงานไปจริงๆ แล้ว ยังมีโอกาสโดนมนุษย์ด้วยกันมาแย่งงานด้วย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่า ดังนั้นควรหมั่นศึกษาหาความรู้ ไปร่วมงานสัมมนากับ UX writer คนอื่นๆ เข้าคอร์ส อ่านบล็อก ฟัง podcast และอัปเดตข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้พร้อมที่จะนำ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือให้เป็นประโยชน์ต่องาน UX writing ให้มากที่สุด
ทักษะที่คุณสามารถเริ่มเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจการทำงานของ AI และใช้งานมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
natural language processing (NLP): เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาที่ AI นำมาใช้ในการวิเคราะห์คำสั่ง จัดการกับฐานข้อมูล และสื่อสารกับเรา
machine learning: การที่ AI จะเก่งและฉลาดได้นั้น มักจะต้องใช้ machine learning ที่ data scientist กำหนดไว้ในการเรียนรู้ข้อมูลเสียก่อน หากคุณเข้าใจคอนเซปต์นี้ได้มากเท่าไรก็จะยิ่งช่วยให้สามารถนำ AI มาใช้งานได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น
programming: แม้ว่าการเขียนโค้ดจะเป็นเรื่องไกลตัวและดูไม่ค่อยเกี่ยวกับงาน UX writer เท่าใดนัก แต่หากคุณเข้าใจหลักการเบื้องต้นของการเขียนโปรแกรม และเขียนโค้ดง่ายๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม ก็จะช่วยให้เข้าใจการทำงานของ AI และต่อยอดกับเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ หากคุณสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเกี่ยวกับ AI หรือ data science โดยตรง หรือมีทีมงานในองค์กรของคุณที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ก็จะดีมาก เพื่อที่จะช่วยกันนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาโซลูชันที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกับ AI และปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยที่คุณไม่ต้องมานั่งลองผิดลองถูกด้วยตัวเองอีกต่อไป
มอร์โฟซิส ผู้เชี่ยวชาญด้าน UX writing
ที่มอร์โฟซิส เราเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของ AI จึงพร้อมปรับตัวด้วยการนำเครื่องมือเหล่านี้มาศึกษาและใช้งาน ทั้งยังไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ทั้งกับลูกค้าและผู้ใช้ หากคุณต้องการความช่วยเหลือ เรามีบริการ UX writing ที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของคุณตอบสนองต่อความต้องการของผู้ได้ดียิ่งขึ้น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และเพิ่ม conversion ให้กับธุรกิจของคุณได้อย่างที่ต้องการ