9 เคล็ดลับการเขียนให้ทั้งถูกใจคนอ่านและถูกหลักการเขียนบทความ SEO แบบมือโปร
บรรดา content writer ทั้งหลายในยุคดิจิทัลต่างรู้ดีว่าการเขียนบทความ SEO นั้นสำคัญแค่ไหนในการทำให้เว็บไซต์ของแบรนด์ติดอันดับบน Google และดึงดูดความสนใจให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาคลิกอ่าน แต่หลายครั้งเราก็เขียนไปโดยหลงลืมความรู้สึกของคนอ่านแบบไม่รู้ตัว
จะมีประโยชน์อะไรหากคอนเทนต์ที่คุณเขียนจนติดอันดับหน้าแรกใน Google เป็นเพียงคอนเทนต์ธรรมดาๆ ที่เต็มไปด้วยเทคนิค SEO และคีย์เวิร์ดที่เหมาะสม ถูกใจ Google Bot สุดๆ แต่คนอ่านกลับรู้สึกว่าไม่ค่อยจะได้ประโยชน์อะไรเท่าไรนัก แถมยังรู้สึกว่าอ่านแล้วไม่เป็นธรรมชาติเลย จึงกลายเป็น UX (ประสบการณ์การใช้งาน) ที่ไม่ดี แม้ว่าการติดอันดับดีๆ จะสร้าง traffic ให้กับเว็บไซต์ แต่บางบล็อกที่อยู่อันดับไม่สูงมาก เช่น อันดับ 5 ลงมา คนอ่านก็อาจจะเข้ามาอ่านแค่แป๊บเดียวแล้วจากไป จนเกิด bounce rate สูงทั้งที่ไม่น่าจะเกิด
ดังนั้น ก่อนที่แบรนด์ของคุณจะสูญเสียคุณค่าไป ลองย้อนกลับมาทบทวนดูก่อนไหม ว่าบทความที่ดีควรจะเขียนอย่างไรกันแน่เพื่อให้สมดุลทั้งเรื่อง SEO และมีความน่าอ่านมากที่สุด
บทความนี้จะไม่พูดลงลึกถึงเทคนิคในการทำ SEO และอาจมีเนื้อหาบางส่วนที่คล้ายคลึงกับ “10 วิธีเขียนคอนเทนต์ให้น่าสนใจจนคนอ่านแล้วอยากแชร์ต่อ” ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้อ่านควบคู่กันไปเพื่อให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด เอาละ มาเริ่มกันเลย
เขียนให้คนอ่าน ไม่ใช่ให้ Google Bot อ่าน
ขั้นแรกสุด ต้องอย่าลืมว่า สุดท้ายแล้วบทความของเรานั้นต้องเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนอ่าน ส่วน Google Bot จะอ่านได้ดีแค่ไหน มันเป็นเรื่องเทคนิคทาง SEO ที่เอามาเสริมเท่านั้น แน่นอนว่าหากทำให้ Google Bot อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นคอนเทนต์คุณภาพ เกี่ยวข้องกับคำที่ผู้ใช้ค้นหามากพอ ก็ย่อมทำให้บทความติดอันดับดีๆ ได้ แต่นั่นคือจุดประสงค์รอง
ย้อนดูคุณค่าของแบรนด์หรือโปรดักต์
ก่อนที่จะว่ากันถึงรายละเอียดว่าต้องปรับปรุงคอนเทนต์อย่างไร คุณควรย้อนกลับมาดูก่อนว่าแบรนด์หรือโปรดักต์ของคุณมีคุณค่าอะไรบ้าง จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาอย่างไร รวมถึงมี tone of voice แบบไหน สิ่งนี้คือพื้นฐานสำคัญที่ต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ และสิ่งที่จะช่วยให้คุณจดจำข้อมูลเหล่านี้ได้ดีขึ้นก็คือการสร้าง brand book เพื่อเป็นคัมภีร์เอาไว้อ้างอิงได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเมื่อมีนักเขียนหน้าใหม่มาร่วมทีม
อย่าเอาแต่พูดถึงตัวเอง
แม้ว่าในหัวข้อที่แล้วเราจะรู้แล้วว่าเราต้องการนำเสนอแบรนด์หรือโปรดักต์อย่างไร แต่การเน้นแค่เล่าประวัติของแบรนด์ ความสำเร็จที่ผ่านมา ทีมงานของคุณมีความรู้มากแค่ไหน หรือบางครั้ง แม้แต่บอกฟีเจอร์ทั้งหมดของโปรดักต์มีอะไรเจ๋งๆ บ้าง อาจไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านสนใจนัก คนส่วนใหญ่มักต้องการแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่มากกว่ามานั่งอ่านข้อมูลที่ครอบจักรวาล หรือไม่ใช่สิ่งสำคัญที่อยากรู้ในตอนนั้น
หลายๆ ครั้งการทำให้แบรนด์มีคุณค่า มีความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ดีขึ้นโดยไม่พูดถึงโปรดักต์เลยอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เมื่อตกผลึกในเรื่องนี้แล้ว จึงนำไปสู่การคิดว่าจะเล่าเรื่องอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านจริงๆ ซึ่งในที่นี้ก็คือกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ บทความจำพวก how to ที่สอนการใช้งานสิ่งต่างๆ, คำแนะนำในการตัดสินใจ, เคล็ดลับหรือเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ มักจะดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านได้เสมอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือเรื่องของ originality หรือเนื้อหาสดใหม่ที่ไม่เคยซ้ำกับใครที่ไหนมาก่อนเลย เพราะบางคนอาจใช้วิธีนำบทความเก่าๆ หรือข้อมูลจากหน้าเว็บอื่นๆ ของตัวเองมาปรับเปลี่ยนนิดหน่อยแล้วโพสต์เป็นบทความใหม่ เพราะไม่ว่าจะซ้ำบางส่วนหรือทั้งหมด หาก Google Bot รู้แล้วมองว่าเป็นคอนเทนต์ที่เหมือนกัน ก็อาจลดอันดับหน้าบทความของคุณได้ และแย่กว่านั้นคือถ้าเป็นคอนเทนต์ของแบรนด์อื่น ซึ่งอย่างหลังสุดจะเข้าข่ายลอกเนื้อหาคนอื่นมาใช้เอง ย่อมส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของแบรนด์ และเสี่ยงต่อการลงโทษจาก Google อีกด้วย
เมื่อผู้อ่านได้รับประโยชน์จากบทความของคุณแล้ว พวกเขาจะกลับมาอ่านบทความใหม่ๆ ของคุณอีก และมีโอกาสที่จะกลายเป็น lead และลูกค้าได้ในอนาคต
เชื่อหรือไม่ว่า Google Bot มีอัลกอริทึมที่สามารถเข้าใจคุณภาพและคุณค่าของคอนเทนต์ที่คุณเขียนลงในบทความ SEO เหล่านี้ได้แล้ว และมีแต่จะยิ่งเข้าใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงมนุษย์ในอนาคต เมื่อ Google นำ AI มาพัฒนาและใช้งานกับ search engine อย่างจริงจัง ดังนั้น สิ่งที่คุณทำย่อมส่งผลดีต่อ SEO ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ใส่คีย์เวิร์ดอย่างไร มากแค่ไหนถึงเรียกว่าพอ
แน่นอนว่าการทำ keyword research นั้น content writer ทั้งหลายคงเข้าใจว่าต้องทำและน่าจะทำกันเป็นอยู่แล้ว จึงขอข้ามไปและสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความที่อ้างอิงถึงก่อนหน้านี้
ส่วนเรื่องของ keyword density หรือความหนาแน่นของคีย์เวิร์ด นั้นมีการพูดถึงมานานหลายปีครั้งแล้วครั้งเล่าว่าต้องใส่เท่านั้น เท่านี้ ถึงจะไม่ล้นจนกลายเป็น keyword stuffing ใส่ตรงไหนถึงจะเหมาะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีสูตรตายตัว และอย่างที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้วว่าอัลกอริทึมของ Google ก็ฉลาดขึ้น ทั้งยังปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ นั่นหมายความว่าเทคนิคที่คุณเคยใช้ได้ดี อาจใช้ไม่ได้ในปีถัดไป
ตัวอย่างของ keyword stuffing จาก Zivtech
ผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่า แม้ว่าคีย์เวิร์ดจะยังคงจำเป็นอยู่เสมอ แต่ความถี่และตำแหน่งของคีย์เวิร์ดก็ไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้นแล้ว ใส่แค่พอดีๆ อย่าให้ความสำคัญของมันมาบดบังคุณค่าของเนื้อหา จุดสำคัญๆ อย่าง title, meta description, heading นั้นแน่นอนว่าควรใส่ลงไปทุกครั้งถ้าทำได้ แต่ถ้าใส่แล้วรู้สึกว่ามันดูฝืนๆ ก็อย่าใส่จะดีกว่า
พูดง่ายๆ ก็คือ เขียนให้อ่านรู้เรื่อง เป็นธรรมชาติไว้ก่อน อย่าพยายามยัดเยียดคีย์เวิร์ดลงไป เมื่อคนอ่านได้อ่านแล้วเข้าใจ เขียนได้สละสลวยเป็นธรรมชาติดี ก็เป็นการสร้าง UX ที่ดี และสร้างความประทับใจต่อแบรนด์ไปในตัวด้วย
จัดฟอร์แมตให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย สบายตา
ประสบการณ์ในการอ่านบทความ SEO ที่ดีไม่ได้มีแค่เรื่องเนื้อหาสาระที่เขียน แต่ยังรวมถึงเรื่องของ readability หรือการออกแบบคอนเทนต์ให้ดูน่าอ่าน สามารถค้นหาหรือไล่เลียงดูข้อมูลได้สะดวกด้วย โดยสามารถทำได้ ดังนี้
เรื่องของ navigation หรือการนำทางผู้ใช้นั้นช่วยให้หาคอนเทนต์ที่สนใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่ตอนที่ออกแบบเว็บไซต์ ในโครงสร้างของหน้าบทความควรเตรียม breadcrumb ไว้ เพื่อให้คนอ่านรู้ว่าบทความที่อ่านอยู่นั้นอยู่ในหมวดย่อยอะไร อยู่ภายใต้หมวดไหนบ้าง และสามารถตามไปอ่านในส่วนอื่นๆ ได้สะดวก หากใครนึกไม่ออกว่า breadcrumb หน้าตาเป็นอย่างไร ให้ดูได้จากในภาพประกอบนี้
ที่มา HubSpot Knowledge Base
ควรสรุปประเด็นสำคัญๆ ในบทความแล้วทำเป็น table of contents หรือสารบัญ โดยอาจทำเป็น bullet point แยกเป็นข้อๆ ตั้งแต่ต้นบทความ และสามารถคลิกเพื่อข้ามไปอ่านส่วนนั้นได้เลย
จัด heading ในประเด็นแยกย่อยความสำคัญตามลำดับ h1, h2, h3
ประเด็นย่อยในแต่ละหัวข้อที่สามารถสรุปได้ในไม่กี่ประโยค ควรแยกออกมาเป็นข้อๆ 1, 2, 3 หรือ bullet point
จัดฟอร์แมตตัวอักษรเน้นตัวหนา ตัวเอียง ขีดเส้นใต้ ในส่วนที่เป็นคีย์เวิร์ดหรือใจความสำคัญ แต่อย่าใช้บ่อยเกินไปจนทำให้อ่านยาก หรือไม่แน่ใจว่าตรงไหนสำคัญที่สุดกันแน่
ใส่ hyperlink กับบางคีย์เวิร์ดเพื่อให้เกิดเป็น hypertext ที่จะลิงก์ไปยังหน้าบทความอื่นๆ ในเว็บไซต์ของคุณ เป็นการสร้างให้เกิด content cluster หรือกลุ่มก้อนของคอนเทนต์ที่อยู่ในประเด็นใกล้เคียงกัน
ใช้ฟังก์ชัน blockquote เพื่อให้เห็นแล้วเข้าใจชัดเจนว่าเป็นคำพูดของใครสักคนที่ยกมาอ้างอิง
อย่าลืมเว้นย่อหน้าให้พอดีๆ สักประมาณ 4-5 บรรทัดต่อหนึ่งย่อหน้า ก็จะเกิด white space ช่วยให้อ่านง่ายขึ้น และควรมีพื้นที่ว่างให้พักสายตาด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์มากขึ้นเมื่อต้องอ่านบนมือถือที่มีพื้นที่แสดงข้อความจำกัด
สิ่งเหล่านี้นอกจากช่วยให้ Google Bot เข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้นและมองว่าเป็นบทความคุณภาพดีแล้ว คนอ่านก็ยังชอบอีกด้วย เพราะอ่านสะดวก เข้าใจง่าย สบายตา ทั้งยังสามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้เร็วขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านทุกตัวอักษร แต่ใช้วิธี skim and scan คืออ่านผ่านๆ เพื่อหาประเด็นสำคัญที่ต้องการจริงๆ เท่านั้น
หากคุณไม่มั่นใจว่าการจัดฟอร์แมตเนื้อหาที่ทำอยู่ดีแค่ไหน อาจใช้แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจสอบบทความของคุณแล้วแสดง experience score หรือ SEO score พร้อมกับคำแนะนำว่ามีส่วนไหนที่ยังขาดตกบกพร่อง หรือควรปรับปรุงอีกบ้าง แล้วแก้ไขให้ออกมาดีขึ้น
ใส่ภาพประกอบที่เหมาะสม
บทความ SEO ที่ดี ไม่ควรมีแค่ตัวหนังสือ ซึ่งภาพที่ใช้ประกอบบทความนั้นมีความสำคัญกว่าที่คิด และไม่ใช่แค่เลือกภาพที่ดูน่าสนใจหรือมีความหมายความเหมาะสมกับเนื้อหาเท่านั้น แต่ควรเป็นภาพที่ส่งเสริม corporate identity หรือ brand identity ด้วย ทั้งในแง่ของความสอดคล้องกับแบรนด์ สไตล์ภาพ โทนสี ดูมีความเป็นมืออาชีพ ไปจนถึงคุณภาพไฟล์ที่คมชัด
สิ่งที่อยากให้สังเกต โดยเฉพาะเมื่อต้องเลือกภาพประกอบจาก stock photo ก็คือ การเลือกภาพที่บุคคลในภาพมองไปยัง focal point หรือจุดโฟกัสของภาพเดียวกัน ดูไม่ขัดแย้งกัน เป็นระเบียบ ทำให้เกิดเส้นนำสายตาและสามารถนำเส้นนี้มาใช้ให้ชี้ไปยัง CTA หรือข้อมูลที่ต้องการให้สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ตัวอย่าง focal point ที่ดี
และตัวอย่าง focal point ที่ไม่ดี
ในกรณีที่เป็นภาพสำหรับอ้างอิง ต้องเลือกภาพที่ตรงกับข้อมูลจริงๆ หากจำเป็นต้องใช้อธิบายเป็นขั้นตอนก็ควรเรียงลำดับให้แน่ใจว่าละเอียดเพียงพอ ไม่มากจนขี้เกียจอ่านหรือน้อยเกินไปจนไม่เข้าใจ ซึ่งบางครั้งการแสดงเป็น carousel, slide, หรือ grid อาจเหมาะสมกว่าใส่มาทีละภาพ
การอธิบายข้อมูลดิบที่เป็นสถิติด้วยแผนภูมิ หรือข้อมูลที่ยากและซับซ้อนด้วย infographic ที่เข้าใจง่าย สวยงาม นั้นก็ช่วยส่งเสริมคุณค่าของบทความได้เป็นอย่างมาก ทั้งยังดึงดูดความสนใจได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ ประโยชน์ของการมีภาพประกอบปะปนอยู่ในบทความบ้าง ทำให้เกิดการพักสายตาจากข้อความยาวเหยียด ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับการเว้นย่อหน้าที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้บทความโดยรวมดูน่าอ่านตั้งแต่แวบแรกที่เห็น
และหากคิดว่าแค่ภาพนิ่งอาจไม่พอที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ การนำเสนอข้อมูลบางส่วนด้วยภาพเคลื่อนไหวในฟอร์แมต GIF ก็อาจช่วยได้ หรือใช้วิดีโอนำเสนอไปเลยอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนี่คือสื่อที่ทรงพลัง ดึงดูดสายตา เข้าใจง่าย และน่าติดตามที่สุดแล้ว
อย่าละเลย alt tag
สิ่งที่หลายคนมักมองข้ามคือการใส่ alt tag ในรูปภาพที่ใช้ประกอบบทความด้วย เพราะตอนนี้ search engine ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของภาพนัก ซึ่งแน่นอนว่ามีผลดีต่อ SEO แต่คุณอาจคิดไม่ถึงว่า บางครั้งมันส่งผลต่อคนอ่านโดยตรงเช่นกัน
นั่นก็เพราะในปัจจุบัน ผู้ใช้หันมาใช้งาน voice search หรือค้นหาด้วยเสียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบนมือถือ alt tag จึงทำให้การค้นหาภาพที่เกี่ยวข้องทำได้ง่ายขึ้น และภาพนั้นจะนำทางผู้อ่านมายังบทความของคุณในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้อ่านที่มีปัญหาทางสายตา ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ที่ใช้ฟังก์ชัน text-to-speech เพื่อฟังข้อความแทนการอ่านจะเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นจาก alt tag ที่เขียนกำกับรูปภาพไว้นั่นเอง
ตามหลักการแล้ว alt tag ควรเขียนภาษาเดียวกับคอนเทนต์ของบทความ ดังนั้น ถ้าบทความเป็นภาษาไทย alt tag ก็ควรเป็นภาษาไทย ทั้งผู้อ่านและ Google Bot ก็จะรู้ว่าเป็นประเด็นเดียวกัน เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งปกติแล้ว CMS ทั้งหลายจะแยกเวอร์ชันภาษาแต่ละ alt tag ของภาพไว้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลปัญหาทางเทคนิคว่าตั้งเป็นภาษาไทยแล้วจะใช้งานได้ไม่ดี
สรุปสาระสำคัญตอนท้าย
เทคนิคหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับการเขียนบทความ SEO ได้ คือการสรุปสั้นๆ ว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง อีกครั้งในตอนท้ายอีกที พร้อมด้วย CTA ก็จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น จดจำได้ และมีโอกาส convert มาเป็นลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีผลดีต่อการทำ SEO ไปในตัวด้วย เพราะคีย์เวิร์ดบางตัวมักจะรวมอยู่ในสรุปเนื้อหาเหล่านี้
กลับมาประเมินผลเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น
โพสต์บทความไปแล้ว ใช่ว่าหน้าที่ของคุณจะสิ้นสุดลง ควรดูสถิติจาก Google Analytics และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อดูข้อเท็จจริงว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร มี engagement แค่ไหน มี organic keyword ไหนที่เกี่ยวข้องและได้ผลดีบ้าง รวมถึงมี backlink ที่แสดงว่ามีเว็บไซต์อื่นอ้างอิงถึงบทความนี้มากแค่ไหน ยิ่งมีมาก ยิ่งแสดงถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลงานที่คุณทำลงไป
แต่เพียงแค่ข้อมูลดิจิทัลอาจไม่พอ หากมีเวลาลองสอบถามจากเพื่อนร่วมทีมที่เป็น content writer เหมือนกัน หรือคนอื่นๆ ในแผนก หรือแม้แต่เพื่อนๆ ที่สนิทกัน เพื่อดูฟีดแบ็กว่าพวกเขาอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร มีอะไรที่ขาดตกบกพร่อง หรืออยากเสนอแนะบ้าง เพราะนี่คือความรู้สึกจริงที่จะสะท้อนว่าบทความของคุณมีคุณภาพเพียงใดในสายตาของพวกเขา ทั้งในแง่ของ SEO และการแสดงถึงคุณค่าของแบรนด์
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบทความ SEO กับ Morphosis
หากคุณสามารถทำได้ครบทุกหัวข้อที่ว่ามาข้างต้น รับประกันได้ว่าบทความของคุณจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นทั้งในแง่ของ SEO และคุณค่าที่คนอ่านอยากได้รับ แต่ถ้าคุณยังไม่มั่นใจในคอนเทนต์ที่ตัวเองมี อยากได้คำปรึกษา Morphosis มีบริการด้านการเขียนคอนเทนต์ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นบริการเขียนบทความ SEO หรือการเขียนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรึกษาเราฟรี