10 วิธีเขียนคอนเทนต์ให้น่าสนใจจนคนอ่านแล้วอยากแชร์ต่อ
เผยแพร่เมื่อ 10 Jun 2023 โพสไปที่คอนเทนต์เจ๋งๆ นั้นมีผลดีต่อแบรนด์ในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในยุคดิจิทัลนี้มากกว่าที่คุณคิด ลำพังแค่เขียนคอนเทนต์ขึ้นมาเฉยๆ แล้วเผยแพร่บนโลกออนไลน์นั้นไม่เพียงพอ เพราะอาจไม่มีใครสนใจอยากจะเข้ามาอ่านและเสียเวลาที่คุณอุตส่าห์เขียนขึ้นมาโดยใช่เหตุ เมื่อคอนเทนต์น่าสนใจก็จะทำให้คนอ่านเห็นชื่อเรื่องแล้วอยากคลิกเข้าไปอ่าน จากนั้นอ่านต่อจนจบไม่ว่าจะยาวแค่ไหน แล้วแชร์ต่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ด้วย
แต่การเขียนคอนเทนต์โดยเฉพาะในรูปแบบของบล็อกที่มีความยาวกว่าคอนเทนต์ชนิดอื่นๆ ให้น่าสนใจได้ขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งเราจะมาบอกเคล็ดลับว่ามีอะไรบ้างในบทความนี้
1. ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อนเขียนคอนเทนต์
หลักการเขียนคอนเทนต์ คือ วางแผนตั้งแต่การหาข้อมูลว่าเนื้อหาที่จะเขียนเกี่ยวกับอะไร เพราะแท้จริงแล้ว คอนเทนต์ที่น่าสนใจต้องเริ่มจากเป็นเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าอ่านแล้วได้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องวิชาการมากๆ เสมอไป
ดังนั้น คุณจึงควรทำ customer/user research เพื่อศึกษาก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อยากรู้เรื่องอะไร หรือมี pain point อะไรบ้าง จนได้ customer insight ที่จะช่วยให้เราสามารถหาหัวข้อที่พวกเขาสนใจมาเขียนได้
วิธีการหนึ่งที่คุณสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ก็คือการเข้าไปใน social media ต่างๆ ที่ลูกค้าพูดถึงโปรดักต์หรือแบรนด์ของคุณ นอกจากคอมเมนต์ในเพจของแบรนด์เอง เพื่อให้รู้สิ่งที่พวกเขาแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการค้นหาใน search engine ด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณเพื่อดูว่าคนทั่วไปคิดเห็นอย่างไรบ้างก็เป็นอีกแนวทางในการหา insight เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือทันสมัยมากมายที่คุณสามารถนำมาค้นหาสิ่งที่คนส่วนใหญ่สงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น AlsoAsked และ AnswerThePublic ซึ่งแค่พิมพ์คำถามที่คุณคิดว่าคนทั่วไปอยากรู้ ระบบก็จะแสดงตัวอย่างคำถามที่เกี่ยวข้องออกมาให้คุณเห็น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นคอนเทนต์ที่ต้องการได้

ภาพการใช้งาน AlsoAsked
2. ทำ keyword research
เมื่อได้ประเด็นที่ต้องการแล้ว ควรมาทำ keyword research ว่าคีย์เวิร์ดไหนที่สามารถนำมาใช้กับหัวข้อและรายละเอียดคอนเทนต์ของคุณได้ เพราะนอกจากจะมีผลโดยตรงต่อการทำ SEO แล้วยังทำให้คนที่พบเห็นหัวข้อนั้นพอจะคาดเดาได้ว่ารายละเอียดของคอนเทนต์น่าจะเกี่ยวกับอะไรและอาจเป็นสิ่งที่เขากำลังค้นหาอยู่ก็ได้
มีเครื่องมือดีๆ มากมายที่คุณสามารถนำมาใช้เพื่อทำ keyword research ได้ เช่น ahrefs, Ubersuggest, และ Semrush ซึ่งจะบอกรายละเอียดได้ว่าคีย์เวิร์ดที่คุณสนใจมีคนใช้ค้นหามากน้อยแค่ไหน มาจากเว็บไซต์ไหนบ้าง และมีคีย์เวิร์ดที่ใกล้เคียงกันหรือไม่

3. ตั้งชื่อหัวข้อให้น่าคลิกอ่าน
หัวข้อที่ดี เตะตา ทำให้ใครก็ตามที่ได้พบเห็นรู้สึกว่าน่าคลิกอ่าน เป็นการสร้าง first impression ที่ดี แต่ต้องระวังไม่ใช้คำที่โอเวอร์ ทำให้หลงประเด็น หรือไม่สอดคล้องกับเนื้อหา เพราะจะกลายเป็น clickbait ที่ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้เข้ามาอ่านหรือผิดหวัง ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีแล้ว อาจทำให้หน้าบทความนั้นรวมถึงเว็บไซต์ของคุณถูกลงโทษโดย Google ได้ ตัวอย่างการตั้งชื่อที่กระตุ้นให้คนอยากรู้ เช่น
“10 วิธี…” (เหมือนในบทความนี้)
“รวม 5 เคล็ดลับเด็ดของ…”
“สิ่งที่คุณเข้าใจผิดเกี่ยวกับ…”
“รู้หรือไม่…”
ถ้าหัวข้อดังกล่าวตั้งได้น่าสนใจ บวกกับเป็นเรื่องที่คนอยากรู้ ใครจะใจแข็งไม่อยากคลิกเข้าไปอ่านก็ให้รู้กันไป!
4. วางโครงสร้างคอนเทนต์ก่อนลงมือเขียน
ได้หัวข้อแล้วอย่าเพิ่งลงมือเขียน ให้วางโครงสร้างก่อนว่าจะมีประเด็นย่อยอะไรบ้าง เรียงลำดับก่อนหลังยังไง ทั้งนี้ การกำหนดหัวข้อย่อยลงไป รวมถึงจัดฟอร์แมตเป็นตัวหนา ตัวเอน และใส่ bullet point ยังทำให้อ่านง่ายขึ้น แถมยังดีต่อ SEO อีกด้วย แต่ควรเช็กให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์ม CMS ที่คุณใช้เขียนคอนเทนต์นั้นมีการแสดงผล HTML ที่ได้มาตรฐาน เพราะการใช้ <ul> และ <li> tag นั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันกับ Google ว่ามันคือ list ในรูปแบบ bullet point จริงๆ
5. เล่าเรื่องราวให้น่าติดตามและมีชีวิตชีวา
การเล่าเรื่องประกอบที่มีตัวละคร มีจุดเริ่มต้น กลางเรื่อง ไคลแมกซ์ และบทสรุป ทำให้คอนเทนต์น่าติดตามมากขึ้น ซึ่ง Hero’s Journey ที่นำเสนอโดย Joseph Campbell คือเฟรมเวิร์กหนึ่งสำหรับการเล่าเรื่องให้ดูน่าติดตามและน่าประทับใจ โดยพูดถึงแนวทางการเล่าเรื่องแบบที่แบรนด์และนักเขียนทั่วโลกต่างนำมาใช้(ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว)นานหลายร้อยปี ว่าด้วยเรื่องของวีรบุรุษที่ออกเดินทางเพื่อทำตามเป้าหมายอะไรบางอย่าง ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา แล้วกลับมาพร้อมกับความสำเร็จ

ภาพตัวอย่างการเล่าเรื่องแบบ Hero’s Journey
บางครั้งถ้าเป็นเรื่องราวส่วนตัวของผู้เขียน หรือมุมมองส่วนตัว แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าแบรนด์เข้าถึงง่าย รวมถึงการมีอารมณ์ขัน ก็มักจะทำให้คนอ่านชอบ
นอกจากนี้ การกระตุ้นให้คนอ่านรู้สึกอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกลัว เศร้า มีความสุข หรือแม้แต่โกรธ ก็ตาม จะทำให้คนอ่านรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหาและแบรนด์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องดูตามความเหมาะสมว่าควรจะเล่าอย่างไรให้เหมาะกับแบรนด์ของคุณ ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องของ brand persona, tone of voice, และ archetype ว่าแบรนด์ควรจะเลือกใช้แนวทางไหน แล้วนำไปใช้อ้างอิงอย่างสม่ำเสมอ

ภาพตัวอย่างของ tone wheel พร้อม brand persona และ archetype
6. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
บางครั้งประเด็นของคอนเทนต์นั้นอาจน่าสนใจ แต่ต้องมาตกม้าตายเพราะภาษาที่ใช้ดูวิชาการเกินไป การใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เลือกคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ลดทอนศัพท์เทคนิคให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็น และพยายามอธิบายเรื่องยากๆ ด้วยเปรียบเทียบกับตัวอย่างใกล้ตัวให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องคำนึงถึง tone of voice ของแบรนด์อยู่เสมอในการเขียนคอนเทนต์เพื่อให้คนอ่านจดจำตัวตนแบรนด์ได้
7. เสริมด้วยข้อมูลสนับสนุนเนื้อหา
การมีข้อมูลสนับสนุน เช่น ตัวเลข สถิติ กราฟ รวมถึงอ้างอิงคำพูดจากผู้เชี่ยวชาญ และลิงก์จาก LinkedIn ของผู้เขียนและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้คอนเทนต์ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ก็อาจจะสงสัยว่า “แล้ววิธีที่แนะนำในบทความนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน” ผู้เขียนขอยกตัวอย่างรูปภาพแสดงขั้นตอนการเขียนคอนเทนต์สำหรับการตลาดดิจิทัล และขั้นตอนการเขียนทั่วไป จากเว็บไซต์อื่นๆ ที่น่าเชื่อถือแทนคำตอบ

ตัวอย่างขั้นตอนการเขียนคอนเทนต์จาก Hubspot

ส่วนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ได้แจกแจงขั้นตอนการเขียนเอาไว้ดังนี้
นักเขียนที่ดีจะดำเนินตามขั้นตอนการเขียน ซึ่งอาจแบ่งออกได้ดังนี้
1. ก่อนลงมือเขียน (Prewriting)
- ค้นหาหัวข้อเรื่อง
- รวบรวมข้อมูล
- ค้นคิดใจความหลัก
- เตรียมการเขียนหรือวางโครงร่าง
2. การร่างงานเขียน (Drafting)
3. การปรับปรุงร่างงานเขียน (Revising)
4. การบรรณาธิกร/พิสูจน์อักษร (Editing/Proofreading)
5. การเขียนร่างสุดท้าย (Writing the Final Draft)
ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ตัวอย่างที่ยกมาจะแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่หลักการเขียนมักประกอบด้วยขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน คือ เริ่มด้วยการ ค้นหาข้อมูล วางเค้าโครง เขียนร่าง ปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำไปเผยแพร่
8. แทรกภาพประกอบที่ดึงดูดสายตาและช่วยให้เข้าใจชัดเจน
บางครั้งการใช้ข้อมูลเป็นตัวหนังสืออย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การอธิบายด้วยรูปภาพช่วยให้คนอ่านเข้าใจบางเรื่องได้ง่ายกว่า และการมีภาพสวยๆ หรือ infographic น่าสนใจ จะช่วยดึงดูดสายตาได้ดี ทั้งยังเป็นการพักสายตาจากตัวหนังสือยาวเหยียดอีกด้วย
นอกจากนี้หากคุณไม่แน่ใจว่าในบทความของคุณ ระหว่างมีภาพประกอบ 2 ภาพ กับภาพเดียว หรือการเลือกระหว่างภาพ A กับ ภาพ B แบบไหนดีกว่ากัน คุณก็ควรทำ A/B testing เพื่อหาคำตอบที่แท้จริง ดีกว่าการคาดเดาตามสัญชาตญาณ ซึ่งการทดสอบด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำให้คุณค้นพบแนวทางที่เหมาะสมในการทำคอนเทนต์ครั้งต่อไป
9. อ่านทวน แก้ไข และเพิ่มเติมรายละเอียด
เขียนเสร็จแล้วลองอ่านทวนหลายๆ รอบ ดูว่ามีอะไรที่ควรแก้ไขบ้าง ทั้งการเรียบเรียงเนื้อหา ข้อมูล การสะกดคำ รวมถึงเพิ่มเติมรายละเอียดลงไป เพื่อให้มั่นใจว่าคอนเทนต์สมบูรณ์ ถูกต้อง และอ่านได้อย่างราบรื่นจนจบ
สำหรับเรื่องของการสะกดคำภาษาไทยนั้น นอกจากการอ้างอิงจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภา การใช้เครื่องมือเพื่อช่วยพิสูจน์อักษรที่รองรับภาษาไทย เช่น katproof ก็ช่วยประหยัดเวลาได้มาก ส่วนภาษาอังกฤษก็มีเครื่องมือมากมายทั้งดิกชันนารีออนไลน์ของ Oxford, Cambridge, Merriam-Webster และ Google add-on/web app อย่าง Grammarly
10. ปิดท้ายด้วยการสรุปใจความสำคัญและ CTA
ตอนจบควรสรุปใจความสำคัญอีกครั้งเพื่อให้คนอ่านจดจำได้ รวมถึงการใส่ CTA เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาทำสิ่งที่แบรนด์ต้องการ ซึ่งบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการลงท้ายด้วยปุ่มรับสมัคร สั่งซื้อ หรือติดต่อสอบถามเสมอไป แต่เป็นการกระตุ้นให้พวกเขานำสิ่งที่ได้จากคอนเทนต์ไปคิดต่อ หรือลงมือทำบางสิ่งให้เกิดประโยชน์จริงๆ
นอกจากนั้น ตอนท้ายของคอนเทนต์คือพื้นที่ที่ควรใส่ internal link ลงไปเพิ่มเติม เช่น ใส่เพื่อให้เห็นว่ามีบทความที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์นี้อีกไหม มีโปรดักต์อะไรของแบรนด์ที่น่าสนใจอีกบ้าง สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านแล้ว การทำ internal linking จนเกิดเป็น topic cluster ยังเป็นผลดีต่อ SEO อีกด้วย
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคอนเทนต์
หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการทำคอนเทนต์ สามารถปรึกษา Morphosis ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคอนเทนต์ได้ เพราะเรามีบริการด้านนี้ที่หลากหลายโดยทีมงานประสบการณ์สูง ไม่ว่าจะเป็น บริการ content writing, UX writing, technical writing รวมถึง content localization ที่คุณเลือกได้ตามความต้องการ หรือปรึกษาเราฟรีหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม