แนวทางการทำ software localization ให้เหมาะกับผู้ใช้ต่างชาติ
ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในยุคนี้ต่างก็ต้องการให้มีผู้ใช้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ การรองรับแค่ภาษาต้นทางเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพออีกต่อไป การทำ content localization และ software localization ให้เป็นภาษาต่างๆ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทีมนักพัฒนาหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างนักแปล หรือ UX writer ต้องลงมือทำเพื่อรองรับผู้ใช้เหล่านี้ในต่างประเทศ
แต่ก่อนจะเริ่มทำ software localization นั้น ต้องเข้าใจหลักการของมันให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อให้เนื้อหาที่แปลออกมานั้นถูกต้อง เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
localization คืออะไร ต่างจากการแปลทั่วไปอย่างไร
หากว่ากันถึงความหมายแล้ว localization นั้นก็เป็นการแปลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการแปลแบบ translation ที่เน้นแปลความหมายโดยที่ยังคงเนื้อหาต้นฉบับ รวมถึงสไตล์การเขียนของผู้แต่งเอาไว้ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ซึ่งเหมาะกับงานที่เป็นวรรณกรรม หรือเอกสารอ้างอิงเชิงวิชาการที่ไม่ต้องการให้เนื้อหาทุกส่วนเกิดความคลาดเคลื่อน
ในขณะที่ localization คือหลักการแปลที่ผ่านการ “ปรับให้เข้ากับท้องถิ่น” (localize) ด้วยการปรับเนื้อหาบางส่วนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของผู้ใช้ในแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีการใช้ภาษาเฉพาะของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านเหล่านั้นเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับต้นฉบับมากนัก ซึ่งเหมาะกับการสื่อสารทั่วไปมากกว่า จึงนำไปใช้ได้ทั้งกับ content localization และ software localization ที่ต้องการให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเนื้อหาหรือวิธีการใช้งานได้ทันที
ดังนั้น การ localize ที่ดีจึงต้องมีความยืดหยุ่น เนื่องจากบางบริบท การเลือกที่จะคงคำดั้งเดิมในภาษาต้นทางไว้ หรือใช้วิธีทับศัพท์ อาจเข้าใจได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกับศัพท์เทคนิค และบางครั้งการเปลี่ยน ตัดทอน หรือเพิ่มเติม ก็ช่วยทำให้สื่อสารได้ดีขึ้น
software localization สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์
ปกติแล้วอินเทอร์เฟซของซอฟต์แวร์มักจะทำ microcopy เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งการทำ software localization ช่วยให้คนที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาในเนื้อหาต้นฉบับของซอฟต์แวร์สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้สะดวกขึ้น และไม่สับสน นอกจากเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ตามหลักการออกแบบซอฟต์แวร์ยุคใหม่ที่ยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลางของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาได้ขยายฐานผู้ใช้ไปในตัวอีกด้วย เพราะแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสากล แต่มีประชากรประมาณ 1 ใน 4 ของโลกเท่านั้นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำ localization
1. วัฒนธรรมและค่านิยม
ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกในการแปลแบบ localization คือเรื่องของวัฒนธรรมและค่านิยมที่แตกต่าง เช่น ภาษาอังกฤษจะไม่มีคำลงท้าย แต่ในภาษาไทย เรามักเติมคำว่า คะ ค่ะ ครับ ลงไปเพื่อให้การแจ้งข้อมูลดูสุภาพ หรือใช้ในบริบทของการแปลบทสนทนาเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งในบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ แต่บางครั้งก็สามารถใส่ได้ตามความเหมาะสมของบริบทและดุลยพินิจของผู้แปล
บางครั้งการ localize ให้เหมาะกับวัฒนธรรมอาจไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ต้องปรับ แต่อาจกระทบไปถึงสัญลักษณ์หรือสีที่ใช้ด้วย เช่น Folded Hands emoji สำหรับคนเอเชียนั้นใช้เพื่อสื่อสารในเชิงศาสนาว่าเป็นการพนมมือ และใช้เพื่อกล่าวขอบคุณ ขอโทษ หรือขอร้อง แต่กับชาวตะวันตกกลับมองว่ามันคือสัญลักษณ์ high five แทน หรือถ้าเป็นเรื่องสีก็ยกตัวอย่างเช่น สีแดง คือสีที่คนจีนชอบเพราะเป็นสีมงคล สีดำ คือสีที่คนไทยไม่ชอบเพราะรู้สึกว่าเป็นสีที่ไม่เป็นมงคล เป็นต้น
ตัวอย่างจาก Twitter ที่แสดงถึงการใช้ Folded Hands emoji ในความหมายที่แตกต่างกัน
2. ทิศทางการเขียน
แม้ว่าภาษาส่วนใหญ่บนโลกจะมีทิศทางการเขียนจากซ้ายไปขวา แต่บางภาษาก็มีทิศทางที่แตกต่างออกไป เช่น ภาษาอาหรับ และ ฮีบรู เป็นต้น นอกจากนี้ บางภาษานั้นสามารถจัดเรียงทั้งประโยคในแนวตั้งจากบนลงล่างได้โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการอ่าน เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับภาษาตระกูลอื่นๆ ที่ออกแบบมาให้ใช้ในแนวนอนเป็นหลัก โดยเฉพาะภาษาไทยที่มีทั้งสระและวรรณยุกต์จำนวนมาก
ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงอินเทอร์เฟซของซอฟต์แวร์ด้วยว่าเหมาะสมกับทิศทางการเขียนของภาษาปลายทางหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีผู้แปลอาจต้องปรึกษากับ developer และ UX/UI designer เพื่อปรับเปลี่ยนการแสดงผล
3. เครื่องหมายวรรคตอนและตัวอักษรพิเศษ
ในบางภาษาอาจจะมีการใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษรพิเศษอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งเมื่อต้อง localize จากภาษาต้นทางไปยังภาษาปลายทาง อาจต้องสลับสับเปลี่ยนสัญลักษณ์ หรือแม้กระทั่งลบตัวอักษรเหล่านั้นออกเพื่อให้เหมาะสมกับภาษาปลายทางมากขึ้น
นอกจากผลกระทบด้านความหมายแล้ว ตัวอักษรพิเศษบางตัวอาจกระทบถึงเรื่องพื้นที่สำหรับการแสดงผลใน UI เช่นกัน ซึ่งจะว่ากันต่อในข้อต่อไป
4. จำนวนตัวอักษรและพื้นที่ที่ต้องใช้
เนื่องจากโครงสร้างของภาษาที่แตกต่างกัน จึงเป็นไปได้สูงมากที่จำนวนตัวอักษรที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จะไม่เท่ากัน รวมถึงขนาดที่แตกต่างกันของตัวอักษรบางตัว ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดใน UI โดยตรง ดังนั้น ผู้แปลอาจจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มหรือลดคำเพื่อให้ออกมาใกล้เคียงกับจำนวนคำในต้นฉบับ โดยที่ไม่กระทบกับการสื่อสารตามเนื้อหาเดิม
ในกรณีที่ไม่สามารถปรับคำได้ ก็เป็นหน้าที่ของ UX/UI designer ที่จะต้องปรับขนาดตัวอักษรหรือเลย์เอาต์ให้ยืดหยุ่นตามเนื้อหาแทน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ภาษาไทยที่ใช้สระและวรรณยุกต์ควบคู่เสมอและมักมีปัญหาเมื่อเว้น leading หรือช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้น้อยเกินไปจนเกิดการทับซ้อนของตัวอักษรจากคนละบรรทัดได้
5. ระบบการเขียน
ระบบต่างๆ ในการเขียนของแต่ละภาษา เช่น ระบบปฏิทิน การเขียนวัน เดือน ปี ตัวเลข หน่วยชั่งตวงวัด การเขียนที่อยู่ นั้นอาจมีความแตกต่างกัน เช่น คนไทยจะชินกับการเขียน วัน/เดือน/ปี ในขณะที่คนอเมริกัน จะชินกับการเขียน เดือน/วัน/ปี คนไทยชินกับระบบเมตริก ที่บอกส่วนสูงของคนเป็นเซนติเมตร แต่คนอเมริกันใช้ระบบอิมพีเรียล ที่บอกส่วนสูงของคนเป็นฟุตและระบุเศษเป็นนิ้ว เช่น สูง 7 ฟุต 10 นิ้ว เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องแปลงหน่วยให้หมด ผู้ใช้จึงจะเข้าใจได้
ตัวอย่างการทำ localization ที่น่าสนใจ
หนึ่งในโปรเจกต์ localization ที่เราทำให้กับลูกค้าชั้นนำคือ แอปพลิเคชัน ttb touch ของธนาคาร ttb
ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเนื้อหาในส่วนของขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อใช้งานแอปฯ ดังกล่าว ประโยค “Mobile number is not registered” ที่อยู่ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษในภาพนี้ หากจะแปลเป็นไทยตรงๆ ก็ควรจะเป็น “หมายเลขโทรศัพท์มือถือยังไม่ได้ลงทะเบียน”
แต่ทีมงานของเราเลือกที่จะ localize ประโยคนี้ว่า “เบอร์มือถือไม่ถูกต้อง” ด้วยเหตุผลที่ว่า การแปลว่า “หมายเลขโทรศัพท์มือถือ” นั้น แม้จะตรงตัว แต่ยาวเกินไปสำหรับพื้นที่ของ UI และไม่ใช่คำที่คนทั่วไปใช้สื่อสารกัน จึงใช้คำว่า “เบอร์มือถือ” แทน และเลือกที่จะปรับส่วนของ “ยังไม่ได้ลงทะเบียน” เป็น “ไม่ถูกต้อง” แทนด้วยเหตุผลที่ว่า มีคำอธิบายด้านล่างว่า “โปรดใช้เบอร์มือถือที่คุณลงทะเบียนไว้กับทางธนาคาร” อยู่แล้ว จึงลดความซ้ำซ้อน เข้าใจง่าย และกระชับยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเทคนิคการแปลแบบ localization ที่เราใช้กับเนื้อหาส่วนใหญ่ของแอปฯ ttb touch
อีกตัวอย่างจากแอปฯ นี้คือขั้นตอนการขอสินเชื่อรถยนต์ My Car ที่มีการใส่ข้อมูลประเภทรถยนต์ โดยหากเป็นรถกระบะ จะมีรายละเอียดให้ใส่เพิ่มเติมว่าเป็นรถกระบะแบบไหน เช่น Single Cab, Space Cab, Double Cab เป็นต้น ซึ่งทีมงานของเราเลือกที่จะแปลให้คนไทยเข้าใจง่ายๆ ว่า
Single Cab คือ ตอนเดียว
Space Cab คือ ตอนครึ่ง
Double Cab คือ สองตอน
เนื่องจากคำเหล่านี้เป็นคำไทยที่คนทั่วไปคุ้นเคยมากกว่า หากใช้วิธีทับศัพท์ว่า “ซิงเกิล แค็บ” เหมือนที่แบรนด์รถยนต์หรือผู้ที่มีความรู้ด้านรถยนต์มักใช้สื่อสารกัน ก็อาจทำให้ผู้ใช้บางส่วนไม่เข้าใจความหมายได้
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการทำ localization
ไม่ว่าคุณจะสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ต้องการทำ localization ก็ตาม Morphosis สามารถช่วยคุณได้ด้วยบริการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ที่ครอบคลุมทั้งบริการแปลภาษาแบบ localization ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ และบริการเขียนคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ ช่วยให้พวกเขาได้ประสบการณ์ที่ดีได้ตามที่คาดหวัง