กลยุทธ์การทำ content localization ด้วย design token
เผยแพร่เมื่อ 22 May 2023 โพสไปที่บรรดาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมากมายในยุคนี้มักถูกสร้างขึ้นมาให้รองรับมากกว่า 1 ภาษา เพื่อเข้าถึงผู้ชมที่หลากหลาย การทำ content localization หรือการแปลคอนเทนต์ให้เหมาะกับผู้ชมในภาษาต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น อย่างเช่นเว็บไซต์และแอปฯ ของแบรนด์ดังๆ ในบ้านเราก็มักจะมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษควบคู่กัน บางรายยังรองรับภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยซ้ำไป
แต่การทำ content localization นั้น ไม่ว่าจะทำกับคอนเทนต์ยาวๆ อย่าง blog หรือว่าจะทำกับ microcopy ที่เป็นเพียงวลีหรือประโยคสั้นๆ ไม่กี่พยางค์ หากปราศจากการวางกลยุทธ์ที่ดี ก็อาจเสียเวลามาก หรือมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะในโปรเจกต์ออกแบบแอปฯ หรือเว็บไซต์ใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนของเมนู ปุ่ม รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ จำนวนมาก ทั้งที่มีคำซ้ำและไม่ซ้ำกัน
ซึ่ง UX writer สามารถใช้หลักการทำงานของ design token เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ในรูปแบบของ copy token หากคุณสงสัยว่า แล้วเจ้า token ที่ว่านี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดได้ข้างล่างนี้
design token คืออะไร กลายมาเป็น copy token ได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงเรื่องของ “Design token คืออะไร และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบได้อย่างไร?” กันไปแล้ว ซึ่งในบทความนี้จะไม่ลงลึกในรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว แต่ขอสรุปไว้ให้พอเข้าใจคร่าวๆ ว่า design token คือหน่วยที่เล็กที่สุดใน design system ตามมาตรฐานของการออกแบบแอปฯ ยุคใหม่ โดยทำหน้าที่เก็บข้อมูลอย่าง สี รูปแบบและขนาดตัวอักษร การเว้นระยะ และค่ากำหนดการแสดงผลอื่นๆ เพื่อให้ designer สามารถนำ design token เหล่านี้ไปใช้ หรือส่งให้กับทีมงานคนอื่นๆ และสามารถทำงานออกแบบ UI ข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ดังนั้น เมื่อเรานำหลักการของ design token นี้มาประยุกต์ใช้กับงาน content localization จึงเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เรียกว่า copy token ขึ้นมาแทน ซึ่งหลักการทำงานก็คล้ายคลึงกัน แค่เปลี่ยน token value จากค่าที่เกี่ยวข้องกับการแสดงผลมาเป็นคำในภาษาต่างๆ แทน เช่น ถ้าตัว token value ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษคือคำว่า “To Ship” สิ่งที่เป็น token value ในภาษาไทยก็จะเป็น “รอการจัดส่ง” เป็นต้น ตามรูปตัวอย่างข้างล่างนี้


ตัวอย่างจากการทำ copy token ที่ Morphosis ใช้กับโปรเจกต์ของลูกค้า

ตัวอย่างการทำงานของปลั๊กอิน Toolabs DSM ใน Figma ที่ใช้ copy token
ประโยชน์ของการใช้ copy token ที่มีต่อ content localization
หลังจากที่เข้าใจแนวคิด และเห็นตัวอย่างของการใช้ copy token กันแล้ว มาดูกันว่าประโยชน์ของมันมีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถสรุปได้หลักๆ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. แหล่งข้อมูลเดียวที่ง่ายต่อการใช้และพัฒนาต่อ
การสร้าง copy token ทำให้เรามีคลังของ microcopy เก็บไว้เป็น copy library ที่รวมทุกอย่างเอาไว้ที่เดียว ตามหลักการ single source of truth ซึ่งทำให้เราสามารถนำ copy token ที่อยู่ในคลังมาใช้ซ้ำหรือแก้ไขได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังบริหารจัดการง่าย เพราะข้อมูลทุกอย่างถูกเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ
2. ลดความผิดพลาด
การมีคลัง microcopy อยู่ทำให้เกิดความผิดพลาดจาก human error น้อยลงมาก เพราะทีมงานทุกคนสามารถนำ copy token ไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องพิมพ์อะไรเพิ่มเติม และมองเห็นได้ชัดเจนว่าคำไหนคู่กับคำไหนอยู่บ้าง
3. ประหยัดต้นทุน
ทีมงานไม่ต้องเสียเวลา เช่น เดาว่าคำที่ใช้บ่อยๆ คำนี้ต้องแปลว่าอะไรกันแน่ หรือต้องทำงานแปลซ้ำซ้อนกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และสามารถนำ copy token ที่มีไปใช้ซ้ำได้ไม่จำกัด แม้หลายคนอาจจะคิดว่าการสร้าง copy token ขึ้นมาดูเป็นเรื่องที่เสียเวลาในการเตรียมการ แต่ในระยะยาวนั้น copy token จะช่วยให้คุณประหยัดทั้งเงินและเวลาได้เป็นอย่างดี
4. UX ดีขึ้น
เมื่อข้อความที่ใช้ซ้ำๆ ในผลิตภัณฑ์มีความสอดคล้องกันอยู่เสมอทั้งในแง่ของ tone of voice ของแบรนด์ ความถูกต้องของไวยากรณ์ และความหมายที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ใช้ได้รับรู้ ประสบการณ์การใช้งานก็จะดีขึ้นตาม ซึ่งเมื่อผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีก็ย่อมเกิดความประทับใจต่อแบรนด์ตามมา
คำแนะนำในการทำ copy token
อย่าลืมว่าต้องใช้งานร่วมกับ content style guide เสมอ เพื่อให้คำที่ใช้สอดคล้องกับแบรนด์
วางหลักการในการตั้งชื่อไฟล์ให้ดี เพื่อให้โครงสร้างของข้อมูลดูแล้วเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นระเบียบ อ่านง่าย และง่ายต่อการค้นหา
หากไม่มั่นใจว่าทีมงานคนอื่นๆ จะเข้าใจข้อมูลในนั้นหรือไม่ หรือมีข้อควรระวังในการนำไปใช้งาน ก็ควรใส่ note ไว้เพื่ออธิบายการใช้งานเพิ่มเติมหากจำเป็น
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการทำ content และการ localization
ไม่ว่าจะคุณกำลังสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลแบบไหน หากคุณต้องการปรึกษาด้านการทำคอนเทนต์ก็สามารถติดต่อ Morphosis ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้ เพราะเรามีบริการครอบคลุมทั้ง content writing, technical writing, และ UX writing ที่พร้อมช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของคุณมีคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับแบรนด์ ตรงใจผู้ใช้ และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน