UX writer คือใคร และต้องมีทักษะอะไรบ้าง
เผยแพร่เมื่อ 28 Apr 2023 โพสไปที่คุณเคยใช้งานบางแอปฯ แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างลื่นไหลและไม่ทำให้คุณสับสนเลยแม้แต่น้อยบ้างไหม? ถ้าใช่ก็แปลว่าแอปฯ ดังกล่าวมี UX writer ที่ทำงานร่วมกับ UX UI designer และ UX researcher ได้เข้าขากันและมีการวางแผนที่ดีมากๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ เช่น Google, Meta, Canva และ Netflix ถึงได้ทุ่มเวลาและทรัพยากรไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ ผ่านการเขียน UX writing ที่เข้าใจผู้ใช้และสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
UX writer คืออะไรที่ไม่ใช่แค่นักเขียนทั่วไปเท่านั้น แต่หน้าที่นี้คือการช่วยให้ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตได้ง่ายและดียิ่งขึ้น นั่นก็เพราะว่าแทบทุกอย่างเปลี่ยนได้ไปอยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ทั้งการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ แท็บเล็ต รวมถึงคอมพิวเตอร์ ที่จำเป็นต้องมีการเขียนข้อความหรือถ้อยคำที่เข้าใจง่าย กระชับ และสื่อให้ผู้ใช้เข้าใจได้ทันทีเพียงพวกเขาได้ใช้งานเป็นครั้งแรก
ในบทความนี้ เราจะพาคนที่กำลังสนใจว่า UX writer คือใคร ทำอะไร และจะเข้ามาทำงานในอาชีพนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจทุกเรื่องที่ช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวเข้ามาทำงานในอาชีพที่ถือว่ามาแรงในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงมาสู่โลกดิจิทัลเกือบทั้งหมดแล้ว

UX writer คืออะไร ทำไมถึงเป็นที่ต้องการในยุคนี้?
UX writer หรือ user experience writer คือนักเขียนผู้คิดสร้างสรรค์ข้อความ ถ้อยคำ และประโยคที่ช่วยให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมที่สุด ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดน้ำเสียงของแบรนด์ (tone of voice) ให้ผู้ใช้งานได้ซึมซับและรู้ว่าแบรนด์ของคุณมีเอกลักษณ์อย่างไร
จากสถิติเปิดเผยว่า 44.% ของนักเขียนที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีเป็น UX writer รองลงมาคือ content designer ที่ 27.1% และมีแนวโน้มความต้องการนักเขียนผู้สร้างประสบการณ์ดีๆ กับผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต (ข้อมูลจาก uxwritinghub)
โดย UX writer จะเป็นผู้ออกแบบ microcopy ให้เหมาะสมกับ digital product ทุกแบบและทุกขั้นตอนในระหว่างที่ผู้ใช้กำลังใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลนั้นๆ ประกอบไปด้วยเมนู ปุ่มกด ช่องกรอกข้อมูล หรืออื่นๆ ที่ต้องสื่อสารให้ผู้ใช้เข้าใจและไปถึงจุดที่พวกเขาต้องการได้ง่ายและเร็วที่สุด ซึ่งคุณสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงวิธีการเขียน UX writing ที่อยู่บนพื้นฐานสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ ชัดเจน (clear), กระชับ (concise) และมีประโยชน์ (useful) ผ่านบทความ “โปรโมทเว็บด้วยการเขียน microcopy ที่โดนใจลูกค้า”
นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุว่าทำไม UX writer จึงได้กลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ developer, UX/UI designer และ UX researcher ที่รวมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลซึ่งมอบประสบการณ์การใช้งานอันยอดเยี่ยมให้กับผู้ใช้หรือลูกค้าได้เป็นอย่างดี

UX writer เขียนอะไรบ้างในแต่ละวัน?
คำถามนี้เป็นอะไรที่คนนอกวงการชอบถาม UX writer บ่อยครั้ง ว่าวันวันหนึ่งเขียนอะไรบ้าง โฟกัสแค่เฉพาะ microcopy อย่างเดียว หรือมีงานเขียนอื่นๆ ให้ทำควบคู่กันด้วย ซึ่งสิ่งที่เราสามารถบอกได้เลยก็คือ มันขึ้นอยู่กับว่าบริษัทและทีมที่คุณทำงานอยู่เป็นแบบไหน แต่ตามปกติแล้วหน้าที่ของ UX writer จะมีหลักๆ ดังนี้
1. UI text
เริ่มกันด้วยหน้าที่ในการเขียนคำสำหรับ UI หรือ user interface ที่แสดงผลอยู่บนปุ่ม เมนู บนหน้าจอแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือแม้แต่เสียงพูดที่ดังออกมาให้ผู้ใช้งานได้รับรู้
2. UX copy
สำหรับ UX copy นั้นก็คือข้อความที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นระหว่างการใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัล รวมถึงข้อความทางการตลาดและข้อความที่สนับสนุนต่างๆ
3. Microcopy
เราเคยอธิบายไปแล้วในบทความ “Microcopy: ข้อความยิบย่อย แต่อิมแพกต์ยิ่งใหญ่” ว่า microcopy ก็คือข้อความบนปุ่มกดที่เมื่อกดแล้วจะเกิดเหตุการณ์ตามมา เช่น “เปลี่ยนเบอร์มือถือ”, “Add to Chrome” รวมถึงคำในช่องค้นหา เช่น “หาของอร่อยได้ที่นี่” และองค์ประกอบอื่นๆ ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลได้ง่าย ไม่รู้สึกสับสน และทำสิ่งที่พวกเขาต้องการได้จนจบโฟลว์
4. Copywriting
ใช่แล้ว UX writer ก็ยังต้องเขียน copywriting บ้างเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในทีมหรือบริษัทสตาร์ตอัป การเขียน copy เพื่อช่วยเหลืองานด้านการตลาดก็เป็นอะไรที่ทำให้คุณสนุกกับการสรรหาคำโดนๆ ไม่แพ้การเขียน UX writing ที่ทำอยู่ตามปกติเหมือนกัน
ในบริษัทขนาดเล็กหรือในบริษัทที่ไม่ได้มีทีมออกแบบใหญ่นัก ก็เป็นเรื่องปกติที่นักเขียนคนเดียว ซึ่งอาจมีชื่อเรียกตำแหน่งว่า content writer, copywriter หรือ UX writer จะเป็นคนที่คอยจัดการทุกอย่าง ตั้งแต่การเขียน copywriting หรือคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ไปจนถึงอินเทอร์เฟซหรือ UX writing บางครั้งก็ต้องเขียนบทความให้ความรู้ และอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โพสต์บนโซเชียลมีเดีย ข่าวประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ whitepaper
ในทางกลับกัน UX writer ที่ทำงานให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ในแต่ละทีมมีสมาชิกจำนวนมาก ต้องทำงานในโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพียงหนึ่งเดียวหรือมีฟีเจอร์สำคัญๆ หลายฟีเจอร์ โดยปกติแล้วอาจมีการแบ่งหน้าที่ของ UX writer ออกจากกันชัดเจน เช่น คนหนึ่งทำหน้าที่เขียน UX writing ที่มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้สำหรับแอปฯ บนมือถือ ส่วนอีกคนก็โฟกัสไปที่โปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ อย่างนี้เป็นต้น

UX writer ที่เขียน UX writing ออกมาได้ดีต้องมีทักษะอะไรบ้าง?
ใครที่อยากจะเข้ามาทำงานเป็น UX writer จะต้องเตรียมตัวและทำความเข้าใจว่าบริษัทที่คุณได้ไปร่วมงานนั้นมี style guide, tone of voice, กลุ่มเป้าหมายและ จุดมุ่งหมายของผลิตภัณฑ์หรือบริการคืออะไรอย่างลึกซึ้ง เพราะคุณมีหน้าที่ในการตรวจสอบและปรับแต่งให้ทุกอย่างสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อผู้ใช้ได้เข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของคุณตั้งแต่ครั้งแรก
ซึ่งการจะปรับแต่ง UX writing ให้ออกมาตอบโจทย์ ตรงประเด็น และช่วยให้ผู้ใช้ผ่านแต่ละโฟลว์การใช้งานได้อย่างราบรื่นโดยตลอดนั้น UX writer จะต้องมี 4 ทักษะดังต่อไปนี้
1. เขียนได้ถูกต้อง ตรงประเด็น และปรับได้หลากหลายสไตล์
คนที่จะมาทำงานเป็น UX writer ไม่ใช่แค่ว่าสามารถเขียนได้ถูกหลักไวยากรณ์และการสะกดคำที่ถูกต้องเท่านั้น แต่คุณต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวเองหรือของลูกค้าที่คุณเป็นผู้คิดสร้างสรรค์คำให้ รวมถึงต้องสามารถใช้คำหรือประโยคสั้นๆ แต่ตรงประเด็น และเข้าใจง่ายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทรงพลัง โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้สึกสับสนจนอยากที่จะปิดแอปฯ หรือเว็บที่พวกเขากำลังทำอะไรบางอย่างทิ้งไปกลางคัน
2. มีความรู้พื้นฐานเรื่อง user experince (UX)
เป็นเรื่องปกติที่ UX writer จะทำงานใกล้ชิดกับ UX designer หรือแม้แต่ UX researcher นั่นหมายความว่าคุณจะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ UX, UI อินเทอร์เฟซผู้ใช้ รวมถึงเวิร์กโฟลว์ของแอปฯ หรือเว็บไซต์ที่คุณกำลังทำ UX writing ให้ออกมาดีที่สุดร่วมกับทีม ซึ่งช่วยให้คุณสามารถสร้างสรรค์และเลือกใช้ microcopy ประโยค หรืออธิบายสิ่งต่างๆ ภายในผลิตภัณฑ์ดิจิทัลนั้นๆ ให้เป็นไปตาม content style guide ที่แบรนด์กำหนดไว้ได้
3. เข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
UX writer ที่เข้าใจว่าผู้ใช้ทั้งในแอปฯ และเว็บไซต์มีพฤติกรรมอย่างไร หรือต้องการอะไรจากในแต่ละขั้นตอนที่พวกเขาต้องผ่านไป ก็จะสามารถเขียนคำที่ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจในสิ่งที่ต้องทำ จนพวกเขารู้สึกประทับใจกับประสบการณ์ที่ราบรื่น เข้าใจง่าย และเห็นได้ถึงความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ที่สื่อสารได้อย่างตรงประเด็น แถมแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายที่มีเอกลักษณ์ ในท้ายที่สุดพวกเขาจะกลับมาใช้อีกครั้งและกระตุ้นให้มีฐานผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
4. ใช้งานเครื่องมือออกแบบได้หลากหลาย
ใครก็ตามที่จะมาเป็น UX writer คุณต้องมีทักษะในการใช้ Sketch, Adobe XD และ Figma ที่เป็นเครื่องมือออกแบบยอดนิยมในยุคนี้ เพราะทีมออกแบบต้องใช้โปรแกรมเหล่านี้ในการทำ wireframe เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการทำ flow ต่างๆ ที่อยู่ในแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ซึ่งคุณมีหน้าที่ทำ UX writing ในส่วนต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเพิ่มหรือแก้ไขข้อความในปุ่ม เมนู หรือทำอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้ใช้
UX writer ผู้สร้างสรรค์คำที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง
UX writer ไม่ได้เป็นแค่นักเขียนที่ออกแบบคำเพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่คุณสร้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญที่เข้าใจว่าผู้ใช้งานแอปฯ และเว็บไซต์ต้องการอะไร อยากรู้อะไร และมีปัญหาอะไร ที่ทำให้พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากการเข้ามาใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการของคุณ โดยยึดหลัก user centric ที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหัวใจสำคัญของการเขียนทุกสิ่งอย่าง
หากคุณกำลังมองหา UX writer ที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี ผู้เคยคลุกคลีอยู่กับโปรเจกต์ใหญ่ๆ ทั้งกับบริษัทในไทยและต่างประเทศ Morphosis เรามีบุคลากรชั้นเลิศที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่คุณกำลังพัฒนาอยู่ สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดไปพร้อมๆ กับการนำเสนอตัวตนของแบรนด์ที่ชัดเจนและกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากกลับมาอีกครั้ง ปรึกษาเราถึงการว่าจ้าง UX writer หรือสมัครมาร่วมงานกับเราก็ได้เช่นกัน