8 ทักษะสำคัญที่คุณควรมีในฐานะ content writer
เผยแพร่เมื่อ 22 Jun 2023 โพสไปที่อาชีพ content writer คือหนึ่งในงานสาย digital marketing ที่เป็นที่ต้องการสูงมากในปัจจุบัน เพราะธุรกิจทั้งหลายต่างต้องการคอนเทนต์ดีๆ ไปใช้เพื่อดึงดูดลูกค้าให้รู้จักแบรนด์และโปรดักต์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทำให้ลูกค้าผูกพันหรือเชื่อมั่นในแบรนด์ของพวกเขามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะสนใจอยากลองทำงานสายนี้ หรือกำลังต้องการคนในตำแหน่งนี้อยู่ นี่คือข้อมูลดีๆ ที่ช่วยให้คุณวางแผนและตัดสินใจได้ดีขึ้น มาดูกันว่า 8 ทักษะที่ content writer ควรมีคืออะไรบ้าง

1. การเขียนระดับมืออาชีพ
แน่นอนว่าการจะทำงานสาย content writer ก็ต้องมีทักษะด้านการเขียนอยู่แล้ว แต่การเขียนคอนเทนต์ให้ออกมามีคุณภาพ สามารถดึงดูดผู้อ่านให้สนใจและอ่านได้จนจบนั้นต้องอาศัยทักษะระดับสูง นอกจากไวยากรณ์และพื้นฐานคำศัพท์ต้องแน่นแล้ว ยังต้องสามารถเรียบเรียงเนื้อหาได้สละสลวย สร้างสรรค์ สื่อสารได้ชัดเจน เข้าใจง่าย และน่าสนใจ
ทั้งนี้ ผู้เขียนที่ดีควรมีทักษะการเขียนงานในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดีย, โฆษณาใน Google Ads, บทความยาวๆ, ข้อมูลสินค้าบนเว็บไซต์ หรือรูปแบบไหนก็เขียนเป็น ทั้งยังเลือกนำเสนอในมุมมองที่หลากหลายได้ เช่น การเสนอแนะ, การวิเคราะห์สถานการณ์, การให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
นอกจากนั้น ต้องเขียนได้กว้าง สามารถปรับตัวตามบรีฟที่แตกต่างกันของแบรนด์ลูกค้าที่มาจากทุกอุตสาหกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง รถยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์กีฬา ประกันภัย หรืออะไรก็ตาม แต่ละธุรกิจ แต่ละแบรนด์ ย่อมจะมีสไตล์การเขียนที่ไม่เหมือนกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ท้าทายขีดจำกัดของคุณอย่างมาก เพราะปกติแล้วคนคนหนึ่งคงไม่สามารถเขียนได้ดีในทุกรูปแบบหรือเข้าใจธุรกิจทุกอย่างในโลก และแต่ละคนก็ย่อมมีสไตล์การเขียนของตัวเองที่ต่างกันออกไป แต่หากคุณอยากเป็นนักเขียนคอนเทนต์ที่เก่ง ก็ต้องผลักดันตัวเองให้ไปถึงระดับนั้นให้ได้
แต่อ่านแล้วอย่าเพิ่งถอดใจกันตั้งแต่ข้อแรก เพราะต่อให้ต้องเขียนในสิ่งที่คุณไม่รู้มาก่อน หรือไม่ถนัด คุณก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้า เพื่อนร่วมงาน เพื่อนๆ หรือค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือได้ และแม้ว่าวันนี้คุณยังทำได้ไม่ดีนัก การสั่งสมประสบการณ์จะช่วยให้คุณเก่งขึ้นเอง
ที่สำคัญ อย่าลืมว่าการจะเป็นนักเขียนได้ต้องเริ่มจากการเป็นนักอ่านมาก่อน อ่านให้เยอะเข้าไว้ นอกจากอ่านอะไรก็ได้ที่คุณสนใจแล้ว ก็ควรอ่านสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานด้วย เพื่อให้มีทั้งคลังคำและข้อมูลที่สามารถงัดออกมาใช้ได้เมื่อต้องการ
2. ความเข้าใจพื้นฐานด้านการตลาดดิจิทัล ดีไซน์ และ IT
ลำพังแค่ใจรักและความรู้ด้านงานเขียนนั้นไม่พอที่จะเป็น content writer ที่ดีได้ ต้องมีความรู้ในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงด้วย ซึ่งได้แก่
การตลาดดิจิทัล คุณต้องเข้าใจว่าคอนเทนต์ก็เปรียบเสมือนโปรดักต์อย่างหนึ่งในแง่ของการตลาด รู้ว่าเรื่องแบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ สามารถวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมให้กับคอนเทนต์ที่จะเขียนได้
ดีไซน์ รู้วิธีการจัดฟอร์แมตของคอนเทนต์ให้อ่านง่าย สบายตา อ่านแล้วเข้าใจว่าข้อมูลส่วนไหนสำคัญ จับใจความได้สะดวก รู้จักเลือกสี ภาพประกอบ หรือวิดีโอที่น่าสนใจ เข้ากับเนื้อหา
IT ควรรู้พื้นฐานของการทำ SEO สามารถเลือกคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมมาใช้กับคอนเทนต์ได้ เพื่อให้คอนเทนต์มีประสิทธิภาพสูงสุด มีคนเข้ามาอ่านเยอะ และทำให้หน้าเว็บไซต์ที่เขียนได้อันดับที่ดีใน search engine เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรหากคอนเทนต์ที่คุณบรรจงเขียนมันขึ้นมาหลายชั่วโมงไม่มีคนมองเห็นเลยตอนค้นหาเรื่องที่เกี่ยวข้องใน search engine นอกจากนั้นก็ควรรู้พื้นฐาน HTML และ CSS ในการปรับแต่งการแสดงผลของคอนเทนต์เบื้องต้นใน CMS ด้วย
3. การค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูล
การเขียนคอนเทนต์ให้มีคุณภาพจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ตรงความต้องการและเชื่อถือได้มาเป็นวัตถุดิบ อย่างที่กล่าวไปในข้อแรกว่าหลายๆ ครั้งคุณอาจต้องเขียนในสิ่งที่คุณไม่รู้มาก่อนเลย ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าจะค้นคว้าข้อมูลจากไหน ด้วยวิธีใด ในปริมาณเท่าใด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพเพียงพอ แล้วสามารถนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์ได้ ก่อนลงมือเขียน
บางครั้งข้อมูลที่เรารวบรวมมา อาจมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ตัวข้อมูลนั้นกลับไม่น่าเชื่อถือหรือมีประโยชน์มากนัก ต้องตระหนักว่าการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดอาจกลายเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงได้ ดังนั้นคุณก็ต้องเช็กให้ดีก่อนนำไปใช้ และเพื่อความชัวร์ก็ควรหาข้อมูลเดียวกันมายืนยันจากหลายๆ แหล่งด้วย
4. การพิสูจน์อักษรและปรับแก้ต้นฉบับ
นักเขียนหลายคนอาจเขียนคอนเทนต์ได้น่าสนใจ แต่เต็มไปด้วยคำที่สะกดผิด ใจความกำกวม ทำให้อ่านยากหรือเข้าใจผิด แทนที่งานจะออกมาดีกลับกลายเป็นงานที่มีปัญหา บางครั้งสะกดผิดแค่คำเดียวแต่ก็อาจสร้างความเสียหายให้แบรนด์ได้
เดิมที การพิสูจน์อักษรนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในแวดวงสิ่งพิมพ์จะมีการจ้าง เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร มาทำหน้าที่ตรวจทานการสะกดคำเพียงอย่างเดียว แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบวกกับการลดต้นทุนทำให้การจ้างงานตำแหน่งดังกล่าวลดน้อยลง
สิ่งที่ content writer พอจะทำได้คือการ cross check กับทีมนักเขียนคอนเทนต์ด้วยกันเอง หรือหากคุณเป็น content writer คนเดียวที่มีก็ต้องหาใครสักคนในทีม เพราะเจ้าของผลงานมักจะมองข้ามจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไป รวมถึงไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขียนไปอ่านรู้เรื่องแค่ไหน หรือมีอะไรที่ควรปรับแก้ การมีอีกคนหรือหลายๆ คนมาตรวจจะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ต้องแก้ไขได้ดีขึ้น
ดังนั้น คุณจึงต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ และมี critical thinking สามารถปรับแก้งานทั้งของตัวเองและของคนอื่นในทีมให้ออกมาสมบูรณ์ก่อนนำไปเผยแพร่ได้
5. การสื่อสารและทำงานเป็นทีม
แม้ว่าเวลาส่วนใหญ่ของคนที่เป็น content writer จะทำงานคนเดียว และคนที่ทำงานเขียนคอนเทนต์หลายๆ คนก็มักจะมีความเป็น introvert อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่เพราะการนำเสนอคอนเทนต์ให้ออกมาดีจำเป็นต้องมีการประชุม ปรึกษา และปรับแก้กันเป็นทีม ซึ่งมักจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อเสนอแนะจากเพื่อนร่วมทีมเกี่ยวกับประเด็นและรายละเอียดเนื้อหาของสิ่งที่คุณเขียนอยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหนก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

สิ่งที่คุณต้องทำคือการนำฟีดแบ็กเหล่านั้นมากลั่นกรองเพื่อพิจารณาว่าอันไหนที่มีประโยชน์และควรปรับใช้กับงานเขียนชิ้นนั้น อันไหนที่ไม่น่ามีประโยชน์หรือไม่เหมาะกับคอนเทนต์นั้นๆ ก็ฟังหูไว้หู และยึดมั่นกับแนวทางเดิมที่ทำมา สุดท้ายแล้วก็จะสามารถยกระดับคุณภาพของมันให้ดียิ่งขึ้น และบรรลุเป้าหมายของการสร้างคอนเทนต์ดังกล่าว
ดังนั้น คุณต้องเข้ากับคนอื่นได้ ให้ความร่วมมือกับคนอื่น สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ชัดเจน กล้าพูด กล้าถาม กล้าโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่มีอีโก้ และไม่หงุดหงิดกับคำตำหนิ งานจึงจะออกมาดี และช่วยให้คุณมีความสุขในการทำงานมากขึ้น
6. การรู้จักใช้เครื่องมือ
สมัยนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างคอนเทนต์จำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งบางอย่างก็ช่วยให้ประหยัดเวลา หรือแก้ปัญหาเวลาคิดงานไม่ออกได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดา AI ทั้งหลายที่เราสามารถถามให้มันลองเสนอไอเดีย ไปจนถึงเขียนให้เสร็จสรรพ ซึ่งแน่นอนว่ามีประโยชน์หากเราใช้ AI ในงานเขียนเป็น ไม่ใช่ให้มันทำงานแทนทุกอย่างโดยที่คุณไม่ทำอะไรเลย ไปจนถึงรู้จักแพลตฟอร์มที่ใช้ในการหาข้อมูลหรือปรับแก้ต้นฉบับ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้งานมีคุณภาพแล้ว ยังทำให้เขียนได้เสร็จทันเวลาอีกด้วย
7. การบริหารเวลา
เวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุดและเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่คุณต้องใช้ในการเขียน แต่การเขียนคอนเทนต์มักมีเวลาจำกัด หรือด่วนมากจนไม่ทันได้เตรียมตัว บางครั้งคุณได้รับบรีฟเช้า งานต้องเสร็จบ่าย หรือถ้าหนักกว่านั้นคือรับบรีฟตอนนี้ แต่ต้องทำให้เสร็จในอีกครึ่งชั่วโมง ดังนั้นคุณต้องรู้วิธีการบริหารจัดการกับงานที่ได้รับมอบหมาย ควรรู้ว่าอันไหนต้องทำก่อน ทำหลัง และทำอย่างไรให้งานออกมามีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่มี
หนึ่งในเทคนิคบริหารเวลาที่มีคนพูดถึงและนำไปใช้กันมากที่คุณสามารถลองนำไปปรับใช้ได้คือ Pomodoro Technique ที่คิดค้นโดย Francesco Cirillo เมื่อช่วงปี 1980s ซึ่งใช้หลักการจับเวลาทำงานเป็นช่วงสั้นๆ ช่วงละ 25 นาที (เรียกว่า 1 pomodoro) โดยมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้
เลือกงานที่จะทำให้เสร็จ
ตั้งเวลานับถอยหลัง 25 นาที แล้วจับเวลา
โฟกัสกับงาน ไม่สนใจสิ่งเร้ารอบข้าง
เมื่อหมดเวลาให้หยุดพัก 5-10 นาที
เมื่อทำครบ 4 ครั้ง (4 pomodoros) ให้พักยาว 20-30 นาที
หลังจากพักยาวเสร็จแล้วให้กลับไปทำข้อแรกใหม่
ข้อดีของการใช้เทคนิคนี้คือการได้โฟกัสกับงานเต็มที่ในช่วงเวลาจำกัดที่มีระยะเวลากำลังดี และได้พักบ่อยๆ แต่ก็มีข้อเสียคือบางคนอาจรู้สึกว่าขาดความต่อเนื่อง หรืองานด่วนไม่เสร็จตามกำหนด ใครที่อยากรู้ว่าใช้ดีแค่ไหนก็น่าจะลองดูก่อน ไม่เสียหาย
ทั้งนี้ หากคุณบริหารเวลาได้ดี ทำงานเสร็จทันเวลา ไม่ต้องอดหลับอดนอนปั่นงานจนดึกดื่น อารมณ์ สภาพจิตใจ และสุขภาพกายของคุณก็จะดีไปด้วย
8. ความใฝ่รู้และหมั่นพัฒนาตนเอง
งานเขียนนั้นไม่ว่าจะเป็นสาย content writer หรือนักเขียนทั่วไป จะมีจุดร่วมกันตรงที่เป็นงานที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อคุณหยุดเรียนรู้ ก็จะไม่มีสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาเขียน หรือตามไม่ทันกระแสของโลก ดังนั้น จึงควรศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ลองทำในสิ่งที่แตกต่างจากความเคยชินเดิมๆ ติดตามข่าวสาร แล้วคุณจะรู้สึกได้ถึงพัฒนาการของตนเอง
ต้องการความช่วยเหลือด้านคอนเทนต์ ปรึกษา Morphosis
หากบริษัทของคุณกำลังต้องการคอนเทนต์ดีๆ เพื่อผลักดันแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีทีม content writer สามารถปรึกษาเราได้ฟรี เพราะเรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยบริการด้านคอนเทนต์ที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น content writing, UX writing, content localization และอื่นๆ หรือหากสนใจร่วมงานกับเรา ก็สามารถดูตำแหน่งงานว่างได้เช่นกัน
