plagiarism คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อคนเขียนคอนเทนต์ในยุค AI ทรงพลัง
เผยแพร่เมื่อ 18 Sep 2023 โพสไปที่บางคนอาจยังไม่รู้ว่า plagiarism คืออะไร และไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน หรือพอเข้าใจคร่าวๆ ว่าคือการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับคำนี้มากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือคุณต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นกับผลงานของคุณ
plagiarism แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ที่จริงกลับใกล้ตัวกว่าที่คิด โดยเฉพาะเมื่อคุณทำงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนส่วนตัวที่เผยแพร่สู่สาธารณะหรือคอนเทนต์สำหรับการตลาดดิจิทัลที่แบรนด์นำไปใช้ เพราะมันอาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงจนยากที่จะแก้ไข และแม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร แต่คอนเทนต์ของคุณอาจเป็น plagiarism ก็ได้ หากคุณสงสัยว่าเพราะอะไร มาทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวได้ในรายละเอียดด้านล่างนี้
ความหมายของ plagiarism
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ความหมายคำว่า “plagiarism” ในฐานะศัพท์บัญญัติเอาไว้ถึง 3 แง่มุมด้วยกัน ได้แก่
วรรณกรรม: โจรกรรมทางวรรณกรรม
นิติศาสตร์: การลอกเลียนวรรณกรรม
ศึกษาศาสตร์: การลอกเลียนข้อมูลวิชาการ
จะเห็นได้ว่ามีการใช้คำว่า “โจรกรรม” เลยทีเดียว ฟังดูรุนแรงใช่ไหม
ส่วน Oxford Dictionary ได้ให้ความหมายของคำนี้โดยแปลเป็นไทยได้ว่า
“การลอกเลียนความคิด ถ้อยคำ หรือผลงานคนอื่นแล้วแอบอ้างว่าเป็นของตนเอง”
ซึ่ง plagiarism นั้นเป็นคำศัพท์โบราณที่มาจากภาษาละติน “plagiarius” ที่แปลว่า “คนที่ลักพาตัวลูกหรือทาสของผู้อื่น” และ plagiarism เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานหลายร้อยปีแล้ว เมื่อมีการถกเถียงเรื่องการขโมยผลงานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 16
ในเชิงวิชาการนั้น ผลงานใดๆ ที่ลอกความคิดของคนอื่นมา แม้ว่าใจความจะไม่ได้เหมือนกันทุกตัวอักษร มีการแก้ไขคำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อพยายามให้ดูแตกต่างและมองไม่ออก หากไม่ได้ใช้วิธีใส่ quote เพื่อแสดงถึงการอ้างอิงและไม่ได้ให้เครดิตอย่างเหมาะสม ก็นับว่าเป็น plagiarism ทั้งสิ้น
ดังนั้น สรุปแล้ว plagiarism ก็คือ การลอกผลงานของคนอื่นโดยแอบอ้างว่าเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาในหลายมิติ ดังต่อไปนี้
ปัญหาของ plagiarism ที่คนเขียนคอนเทนต์ต้องระวังมีอะไรบ้าง
ปัญหาเชิง SEO เมื่อ search engine อย่าง Google รู้ว่าคอนเทนต์ที่คุณเขียนขึ้นมาแท้จริงแล้วซ้ำกับคอนเทนต์จากเว็บไซต์อื่นที่สร้างไว้ก่อนแล้วแบบเป๊ะๆ อาจทำให้ Google ลงโทษด้วยการลดคะแนน SEO หรือไม่ก็ปิดกั้นการมองเห็นหน้านั้นไว้ หรือหนักหน่อยก็อาจแบนเว็บไซต์ของคุณไปเลยก็ได้ เนื่องจาก Google ต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและไม่ซ้ำหรือคัดลอกมาจากที่อื่นมาแสดงในผลการค้นหา ซึ่งหากคอนเทนต์ซ้ำกันไปหมดจะส่งผลให้ประสบการณ์การใช้งาน search engine ของพวกเขาไม่ดีเท่าที่ควร
ปัญหาเชิงจรรยาบรรณ เราต่างรู้ดีว่าการลอกผลงานคนอื่นก็เหมือนเราไปลอกการบ้านเพื่อนมาส่งครูนั่นแหละ ใครๆ ก็รู้ว่าไม่ควรทำ แต่สำหรับเด็กๆ มันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ทว่าหากคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือ นักวิชาการ การลอกผลงานคนอื่นมาใช้โดยไม่อ้างอิงเครดิตให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเสียชื่อแล้ว ยังส่งผลต่อหน้าที่การงานอีกด้วย
ปัญหาเชิงกฎหมายลิขสิทธิ์ สมัยนี้ผู้คนเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น หากเจ้าของผลงานพบว่างานเขียนของตนถูกละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจฟ้องร้องได้ ซึ่งค่าเสียหายที่คุณต้องจ่ายอาจสูงเกินกว่าที่คุณจะรับไหวและไม่คุ้มกับการเผยแพร่คอนเทนต์นั้นไปเพียงเพื่อจะส่งเสริมการตลาด ทั้งยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์แบบกู่ไม่กลับอีกด้วย ดังนั้น นี่คือเรื่องคอขาดบาดตายที่แบรนด์ของคุณไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน

การใช้ AI เขียนบทความเข้าข่าย plagiarism หรือเปล่า
AI ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยยกระดับชีวิตมนุษย์นานหลายปีแล้ว โดยปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชนของไทย ไม่ว่าจะเป็นในด้าน FinTech อย่าง ธนาคารกรุงเทพ ที่ใช้ AI ชื่อ TT01 มาทำงานในส่วนของแชตบอต, ธนาคารกสิกรไทย ที่ใช้ KADE เป็น AI ที่ช่วยนำเสนอบริการทางการเงินที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละคนในแอป KPLUS, หรือด้าน MedTech อย่าง โรงพยาบาลศิริราช ที่ใช้ AI เพื่อช่วยตรวจวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลทางรังสีวิทยา เป็นต้น
สำหรับด้านการตลาดดิจิทัล สมัยนี้มีคนใช้ AI ในการผลิตคอนเทนต์ออกมามากมายจนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แน่นอนว่า AI ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง ChatGPT ของ OpenAI ที่ใช้ GPT-3 และ GPT-4 เป็น large language model นั้นคือตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่คนนำมาใช้สร้างคอนเทนต์ เนื่องจากเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำออกมาสู่สาธารณะและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าเดิมทีความตั้งใจแรกของผู้พัฒนา ChatGPT จะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของแชตบอตด้วย large language model เท่านั้น ไม่ได้สร้างออกมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเขียนคอนเทนต์ในวันที่ต้องรีบปั่นงานให้ทันเดดไลน์ก็ตาม
เมื่อ ChatGPT ได้รับความนิยม ก็มีอีกหลายบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจกระโดดเข้ามาตีตลาด AI ด้วย ทำให้ปัจจุบันเรามีสิ่งที่เรียกว่า AI writer หรือ AI text generator ขึ้นมาช่วยเขียนคอนเทนต์จำนวนมากมาย ซึ่งหลายๆ ตัวมีการเจาะกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการเขียนคอนเทนต์เพื่อการตลาด หรือเขียนบทความ SEO โดยเฉพาะ เช่น
Jasper, Wordtune, Writesonic, Rytr, Simplified AI Writer, Semrush AI Writing Assistant, Copy.ai, GrammarlyGo ที่สามารถเขียนคอนเทนต์ได้ครบวงจร ตั้งแต่โพสต์ในโซเชียลมีเดีย, อีเมล, ข้อมูลโปรดักต์, ไปจนถึงบทความยาวๆ และคอนเทนต์ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย โดยใช้ tone of voice ที่สอดคล้องกับแบรนด์ได้ นอกจากนี้เครื่องมือบางตัวยังสามารถสร้างภาพประกอบจากคำสั่งได้ด้วย
Magic Write ของ Canva ที่พัฒนาขึ้นจาก GPT-3 โดยเน้นในการออกแบบไฟล์เอกสารพร้อมคอนเทนต์ทั้งข้อความและภาพประกอบได้อย่างรวดเร็ว
แต่เครื่องมือที่ว่ามาทั้งหมดยังรองรับการทำงานกับภาษาไทยได้ไม่ดีเท่าที่ควร บางเจ้าไม่รองรับเลย ในส่วนนี้จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้มีผู้พัฒนาชาวไทยสร้าง AI writer ขึ้นมาเอง เช่น Prompt Lab และ anissa ซึ่งทำให้คอนเทนต์ภาษาไทยดูเป็นธรรมชาติขึ้น

ซึ่งทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าคอนเทนต์เหล่านี้เกิดจากการที่ AI ไปลอกข้อมูลใครมาไหม เข้าข่าย plagiarism หรือเปล่า
หากจะว่ากันตามหลักการล้วนๆ คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นด้วย AI ไม่นับว่าเป็น plagiarism
เนื่องจากกระบวนการทำงานทั่วไปที่ AI ใช้คือการรับคำสั่งจากผู้ใช้ จากนั้นตีความ ก่อนที่จะไปค้นฐานข้อมูล แล้วนำมาประมวลผล เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงส่งผลลัพธ์กลับมาให้ผู้ใช้ ซึ่งหมายความว่า AI เหล่านี้มีการ ‘คิด’ เองในระดับหนึ่ง มีการสังเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นผลงานชิ้นใหม่ ไม่ได้ไปลอกผลงานของใครมา
แต่… นั่นคือหลักการทั่วไปเท่านั้น
เนื่องจากคุณไม่สามารถตรวจสอบในรายละเอียดได้ว่า ผลลัพธ์ที่ AI ส่งมาให้เกิดจากการคิดขึ้นมาใหม่ 100% ไม่ได้คัดลอกมาจากเว็บไซต์ไหนเลย แม้ว่า AI หลายเจ้าจะยืนยันว่าเครื่องมือของตนมีระบบป้องกัน plagiarism ก็ตาม จึงเป็นไปได้ว่าคุณกำลังสร้าง plagiarism ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้น AI/plagiarism detector ที่ผู้พัฒนาเคลมไว้ว่าเครื่องมือของพวกเขาสามารถตรวจสอบได้ว่าข้อความที่ทดสอบนั้นน่าจะเขียนโดยมนุษย์หรือ AI และเข้าข่าย plagiarism หรือไม่ เช่น
Winston AI เครื่องมือยอดนิยมในการตรวจจับ AI ที่ผู้พัฒนาเคลมว่าแม่นยำถึง 99.6%
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเจ้า เช่น Sapling, Copyleaks, ZeroGPT เป็นต้น
สำหรับงานเขียนเชิงวิชาการก็มี Turnitin ที่เป็นเครื่องมือยอดนิยม และ อักขราวิสุทธิ์ ที่รองรับภาษาไทย ซึ่งอย่างหลังต้องติดต่อไปขออนุญาตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อน

หน้าจอการทำงานตรวจจับ AI ของ Winston AI
คอนเทนต์ที่ใช้ AI เขียน จะถูก Google ลงโทษหรือไม่
นี่คือคำถามต่อมาของคนทำงานด้านการตลาดดิจิทัลที่ใช้ AI ซึ่งจากนโยบายของ Google ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการใช้ AI สร้างคอนเทนต์นั้นไม่ผิด ตราบใดที่คอนเทนต์นั้น “มีคุณภาพ” แต่หาก Google ประเมินว่าคอนเทนต์ดังกล่าวไม่มีคุณภาพและสงสัยว่าน่าจะใช้ AI หรือเครื่องมืออัตโนมัติอื่นๆ เขียนขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อเป็นข้อมูลที่ควรจะมาจากมนุษย์อย่าง รีวิว จะนับว่าเป็นสแปม ตามข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้
We’re adding a new policy:
Automated Content: We don’t allow reviews that are primarily generated by an automated program or artificial intelligence application. If you have identified such content, it should be marked as spam in your feed using the <is_spam> attribute.
วิธีการป้องกัน plagiarism ไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวคุณ
เมื่อรู้ที่มาที่ไปและปัญหาของ plagiarism แล้ว วิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้กับคุณก็คือ
แยกแยะระหว่าง “ได้รับแรงบันดาลใจ” กับ “ก็อปงาน” ให้ออก แม้ว่าบางครั้งสองสิ่งนี้จะดูเหมือนมีเพียงเส้นคั่นบางๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกัน คนเราทุกคนย่อมได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวได้ เราทำสิ่งที่เป็นการเลียนแบบคนอื่นอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณพยายามทำให้เหมือนคนอื่นด้วยการลอกเลียนผลงานเขามาใช้กับผลงานตัวเองเพื่อหาผลประโยชน์ เมื่อนั้นคือ plagiarism
สร้างผลงานขึ้นมาเอง อย่าใช้วิธีลัดที่ไม่สุจริตด้วยการลอกผลงานคนอื่น ต่อให้ไม่มีใครรู้ แต่ตัวคุณเองย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาเป็นความคิดของคุณเองมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ ผลงานที่สร้างขึ้นเองยังเป็นความภูมิใจของคุณอีกด้วย
รู้จักใช้ AI อย่างถูกวิธี เพราะผลลัพธ์ที่ AI สร้างขึ้นอาจเป็นคอนเทนต์ที่เข้าข่าย plagiarism คุณสามารถใช้ AI เพื่อช่วยหาไอเดียคร่าวๆ ได้ แต่สุดท้ายแล้วคุณต้องใช้ความคิดของตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมา หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ควรปรับแก้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
สรุปทิ้งท้าย
หากคุณเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์หรือนักเขียนที่ต้องการสร้างผลงานที่ตัวเองภูมิใจและไร้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ตามมา ควรหลีกเลี่ยงการนำผลงานคนอื่นมาใช้ แม้ว่าการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เกินความสามารถของคุณอย่างแน่นอน
หากคุณต้องการที่ปรึกษาด้าน content marketing สามารถติดต่อเราได้ เพราะเรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการเขียนคอนเทนต์พร้อมให้บริการคุณ